SPONSORED CONTENT

Sponsored content

มวลหมอกที่ปกคลุมกรุงเทพมหานครอยู่ ณ ตอนนี้ หากมองอย่างผิวเผินอาจคิดว่าเป็นไอหมอกธรรมชาติ แต่แท้จริงแล้วคือปริมาณของฝุ่นละอองมลพิษขนาด PM2.5 ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

มวลหมอกที่ปกคลุมกรุงเทพมหานครอยู่ ณ ตอนนี้ หากมองอย่างผิวเผินอาจคิดว่าเป็นไอหมอกธรรมชาติ แต่แท้จริงแล้วคือปริมาณของฝุ่นละอองมลพิษขนาด PM2.5 ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ปริมาณของฝุ่นละอองที่ว่าหนาทึบจนน่าเป็นห่วง ทำให้หลายคนเกิดคำถามว่าฝุ่นละอองเหล่านี้มาจากไหน มีสาเหตุมาจากอะไร และจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร

ด้าน ผศ. ดร.ภัคพงศ์ พจนารถ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ตำแหน่งรักษาการแทนคณบดี คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยว่า ปัญหาเรื่องฝุ่นละอองนั้นไม่ใช่ปัญหาใหม่ และมีข้อมูลพื้นฐานที่มีผู้ศึกษาวิจัยมามากแล้ว ดังนั้น ก่อนที่จะเข้าใจสาเหตุของปัญหานี้จำเป็นต้องมองมลพิษว่าเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างเสียก่อน ผศ. ดร.ภัคพงศ์ กล่าวว่า ในเชิงโครงสร้างนั้นปัญหามลพิษมีองค์ประกอบอยู่ด้วยกัน 3 ประการ คือ แหล่งกำเนิด ตัวกลาง และผู้รับ โดยทั่วไปแล้วมลพิษประเภทฝุ่นละออง PM2.5 มีแหล่งกำเนิดมาจากการเผาไหม้ ได้แก่ การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ในภาคขนส่ง โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล โรงงานอุตสาหกรรม การบริโภค และการเผาไหม้ชีวมวล ส่วนตัวกลางก็คือสภาพอากาศตามฤดูกาล ซึ่งในฤดูหนาว อากาศจะนิ่ง ระบายได้ไม่ดี เกิดการสะสมตัวของมลพิษ จึงเป็นเหตุว่าช่วงนี้ถึงมีฝุ่นมลพิษมากกว่าช่วงฤดูฝน ส่วนผู้รับก็คือประชาชนที่ได้รับผลกระทบนั่นเอง

บางคนอาจสงสัยว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าในขณะนี้เป็นหนึ่งในสาเหตุของฝุ่นละออง PM2.5 ด้วยใช่หรือไม่ ผศ. ดร.ภัคพงศ์อธิบายว่า เป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุจริง แต่การก่อสร้างในลักษณะนี้ก่อให้เกิดฝุ่นขนาดใหญ่ อาจสร้างความรำคาญ แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายได้เท่ากับฝุ่นละออง PM2.5  อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างดังกล่าวทำให้การจราจรติดขัด ถ้ารถติดแล้วรถไม่ได้วิ่งหรือเคลื่อนตัวช้า ปริมาณฝุ่นละอองจากท่อไอเสียที่รถปล่อยออกมาก็จะมากกว่ารถที่วิ่งโดยไม่ติดขัด

ในเบื้องต้น ผศ. ดร.ภัคพงศ์แนะว่า หน้ากากอนามัยเป็นสิ่งจำเป็นและต้องสวมหากต้องออกนอกอาคาร เพราะถึงแม้ว่าหน้ากากอนามัยบางชนิดจะกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไม่ได้ 100% แต่ก็ควรป้องกันไว้ก่อน นอกจากนี้ บางคนที่มีอาการระคายเคืองตาก็ควรหมั่นทำความสะอาดล้างตาด้วยน้ำยาล้างตา หรืออาจสวมแว่นขนาดใหญ่หรือแว่นกันแดดเพื่อกันไม่ให้ลมพัดฝุ่นละอองเข้าตา และหากระคายเคืองตามร่างกาย ก็ต้องสวมเสื้อผ้าให้มิดชิดมากขึ้น

ส่วนในระยะยาวนั้น ผศ. ดร.ภัคพงศ์ แนะว่า ภาครัฐมีความจำเป็นต้องเข้มงวดกับการตรวจตราคุณภาพรถบนท้องถนนให้มากขึ้นกว่านี้ และส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้มากขึ้น อาจใช้มาตรการลดภาษีนำเข้าเป็น 0% ในช่วงแรก เพื่อให้คนเปลี่ยนมาใช้ก่อน เนื่องจากปัจจุบันรถประเภทนี้มีราคาสูง และเมื่อไทยเรามีกำลังในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเองได้แล้วจึงกลับมาเพิ่มภาษี

นอกจากนี้ ผศ. ดร.ภัคพงศ์ยังได้เน้นย้ำ อีกว่า ปัญหามลพิษในประเทศไทยเป็นปัญหาที่มีมาหลายปีแล้ว ไม่เพียงแต่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาในพื้นที่อื่นๆ ด้วย จึงอาจถือได้ว่าเป็นปัญหาในระดับชาติที่รัฐบาลจะต้องเร่งแก้ไขและควรกำหนดยุทธศาสตร์ชาติเพื่อรับมืออย่างจริงจัง เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วจำนวนไม่น้อยอย่าง อเมริกา ญี่ปุ่น หรือสวีเดน ต่างก็เคยประสบกับปัญหานี้มาแล้วทั้งสิ้น รัฐบาลเราต้องหันกลับไปมองการแก้ปัญหานี้ เรียนรู้จากประเทศเหล่านั้น ก็จะทำให้เราก้าวข้ามวิกฤติการณ์นี้ไปได้

Facebook: NIDA Thailand l www.nida.ac.th โทร. 0 2727 3000 l สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ก่อตั้งจากพระราชดำริ สู่ความเป็นเลิศทางบัณฑิตศึกษา

ข่าวเด่น

ข่าวทั่วไทย

ข่าวที่น่าสนใจ