BKK NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

29 กรกฎาคม 2564 : 16:02 น.

กทม.ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าเพิ่มสวนสีเขียวให้คนกรุงตามเป้า GREEN BANGKOK 2030

เมื่อวันที่ 29 ก.ค. นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 1,568.737 ตารางกิโลเมตร มีจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร์กว่า 6 ล้านคน รวมประชากรแฝงแล้วอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านคน จากความหนาแน่นของจำนวนประชากร ทำให้กรุงเทพมหานครต้องมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สำหรับการอยู่อาศัย พื้นที่ประกอบธุรกิจการค้า การขนส่ง ตลอดจนกิจกรรมอื่น ๆ จากการเติบโตในทุก ๆ ด้าน ซึ่งส่งผลให้พื้นที่สีเขียวของเมืองมีปริมาณลดลง กรุงเทพมหานครตระหนักถึงความสำคัญของการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของเมืองและมองเห็นโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนที่กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพมหานคร เช่น พื้นที่สาธารณะ พื้นที่ใต้ทางด่วน พื้นที่ระหว่างอาคารพื้นที่หน้าอาคาร พื้นที่ทางเท้า พื้นที่ริมคลองต่าง ๆ จึงมีนโยบายสำคัญในการมุ่งผลักดันการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืนและให้ได้ตามมาตรฐานสากล

ทั้งนี้ สำนักสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำโครงการ GREEN BANGKOK 2030 ขึ้นเพื่อบูรณาการและประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่มีศักยภาพและมีจิตสาธารณะในการร่วมกันเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กรุงเทพฯ โดยตั้งเป้าบรรลุโครงการ GREEN BANGKOK 2030 ในปี 2573 ใน 3 เป้าหมาย ได้แก่ 1. เพิ่มอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรให้ได้ 10 ตร.ม./คน 2. มีพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ในระยะเดิน 400 เมตร หรือ 5 นาที ไม่น้อยกว่า 50% ของพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ 3. พื้นที่ร่มไม้ (Urban Tree Canopy) ต่อพื้นที่เมืองเพิ่มขึ้นเป็น 30% ของพื้นที่กรุงเทพมหานคร

อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานคร ร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ ปตท. We!park และ Big Trees และภาคประชาสังคม ขับเคลื่อนโครงการ GREEN BANGKOK 2030 ให้บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ โดย บริษัท ปตท. ปรับภูมิทัศน์เพิ่มพื้นที่สีเขียว ปลูกต้นไม้ยืนต้นจำนวนมากในพื้นที่อาคาร ปตท.สำนักงานใหญ่ และเป็นภาคีเครือข่ายหลักในการดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ ตามแนวถนนพหลโยธิน ระยะทางรวม 5.5 กม. โดยร่วมกับภาคเอกชน และสำนักงานเขตพื้นที่ เพื่อร่วมกันพัฒนาเส้นทางเดินเท้าตลอดระยะทางโครงการ สำหรับ We!Park และสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย มีส่วนช่วยในกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน และออกแบบงานด้านภูมิสถาปัตยกรรม ตลอดจนจัดทำรูปแบบสำหรับการก่อสร้างเพื่อให้กรุงเทพมหานครนำไปจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการพัฒนาพื้นที่สีเขียว และ Big Trees ร่วมกับ กทม. และภาคีเครือข่ายที่เป็นสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดอบรมหลักสูตรการดูแลและตัดแต่งต้นไม้ตามหลักรุกขกรรม ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการดูแลสวนและพื้นที่สีเขียวของสำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักงานเขตต่าง ๆ

นางศิลปสวย  กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีพื้นที่ว่างเปล่าที่รอการพัฒนาอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งที่ดินของภาครัฐ เช่น ที่ดินของส่วนราชการ กรุงเทพมหานคร กรมธนารักษ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย และภาคเอกชน ที่ดินของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงที่ดินแปลงย่อยของประชาชนทั่วไป ที่ดินเหล่านี้ล้วนแต่มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวของเมืองได้เป็นอย่างดี จึงได้ทำการสำรวจพื้นที่ว่างเปล่าที่อยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร เพื่อนำมาพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวสำหรับให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่ว่างภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชจำนวน 2 แปลง พื้นที่รวม 66 ไร่ และพื้นที่ภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม จำนวน 2 แปลง พื้นที่รวม 14 ไร่ โดยสำนักสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการปลูกกล้าไม้ยืนต้นจำนวนกว่า 20,000 ต้น เพื่อพัฒนาให้เป็นสวนป่านิเวศของกรุงเทพมหานคร และเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านระบบนิเวศป่าในเมืองให้กับประชาชนทั่วไป

สำหรับ ในปี 2564-2565 ตามแผนของกรุงเทพมหานคร ประชาชนจะได้ใช้บริการสวนสีเขียวเพิ่มอีก 12 แห่ง ได้แก่ 1. สวนชุมชนซอยวิภาวดี 18 แยก 3 เขตจตุจักร พื้นที่ 2 ไร่ 2. สวนสาธารณะบริเวณโครงการต่อเชื่อมถนนกาญจนาภิเษก-ถนนพุทธมณฑลสาย 2 เขตทวีวัฒนา พื้นที่ 35 ไร่ 3. สวนสาธารณะบริเวณถนนพุทธมณฑลสาย 3 เขตทวีวัฒนา พื้นที่ 98 ไร่ 4. สวนสาธารณะบริเวณซอยหน้าวัดหัวลำโพง เขตบางรัก พื้นที่ 200 ตารางวา 5. สวนสาธารณะภายในสถานีพัฒนาที่ดินบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน พื้นที่ 37 ไร่ 6. สวนป่านิเวศอ่อนนุช เขตประเวศ ระยะที่ 1 พื้นที่ 18 ไร่ 7. สวนป่านิเวศหนองแขม เขตหนองแขม พื้นที่ 14 ไร่ 8. สวนจากภูผาสู่มหานที ภายในสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เขตจตุจักร พื้นที่ 26 ไร่ 9. สวนป่าเอกมัย เขตวัฒนา พื้นที่ 5.6 ไร่ 10. สวนริมแม่น้ำเจ้าพระยา เขตคลองสาน พื้นที่ 2 ไร่ 1 งาน 96 ตารางวา 11. พื้นที่ภายในซอยวชิรธรรมสาธิต 35 เขตพระโขนง พื้นที่ 14 ไร่ และ 12. ลานกีฬาแสงทิพย์ ซอยปรีดีพนมยงค์ 2 เขตวัฒนา พื้นที่ 5.4 ไร่ ซึ่งพื้นที่สีเขียวหรือปอดของเมืองที่กำลังจะเพิ่มใหม่ 12 แห่งนั้น มาจากจิตศรัทธาจากประชาชน องค์กรเอกชนซึ่งได้ร่วมกันบริจาคที่ดิน 6 แปลง เนื้อที่รวม 123 ไร่ ประกอบด้วย ที่ดินครึ่งไร่หน้าวัดหัวลำโพง, ที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา เขตคลองสาน 2 ไร่, ที่ดินริมเจ้าพระยา เขตบางกอกน้อย 3 ไร่, ที่ดินถนนพุทธมณฑลสาย 3 แปลงใหญ่ 98 ไร่ ที่ดินในซอยวชิรธรรมสาธิต 35 ขนาดกลาง 14 ไร่ และที่ดินในซอยศรีนครินทร์ 24 อีก 4 ไร่

นางศิลปสวย กล่าวว่า ในการดำเนินการโครงการ GREEN BANGKOK 2030 จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน โครงการ Green Bangkok 2030 ด้วยการมอบที่ดินในลักษณะการบริจาคให้เป็นกรรมสิทธิ์ของกรุงเทพมหานคร หรือมอบให้กรุงเทพมหานครดูแลในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้กรุงเทพมหานครเข้าไปบริหารจัดการ ใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า โดยสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานเขตใกล้บ้าน เมื่อแจ้งความประสงค์ จากนั้นกรุงเทพมหานครจะประเมินความเหมาะสมพื้นที่ กายภาพแปลงที่ดิน การเข้าถึง ก่อนเริ่มพัฒนาแปลงที่ดินให้เป็นพื้นที่สีเขียว ทั้งนี้ความสำเร็จของโครงการจะสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของทุกภาคส่วนที่ได้ทุ่มเท่และเสียสละร่วมกัน เพื่อให้คนกรุงเทพฯ ได้มีคุณภาพชีวิตและมีสุขภาพที่ดีในอนาคต

ข่าวเด่น

The 1 Insight เผยกลยุทธ์มัดใจ Silver Spenders วัยเก๋าพร้อมเปย์ ชี้ทางรอดแบรนด์ยุค Complete Aged Society พร้อมเทรนด์เด่น Self-Indulgence & Health Enthusiast

The 1 Insight เผยกลยุทธ์มัดใจ Silver Spenders วัยเก๋าพร้อมเปย์ ชี้ทางรอดแบรนด์ยุค Complete Aged Society พร้อมเทรนด์เด่น Self-Indulgence & Health Enthusiast

LH Bank สนับสนุนสินเชื่อจำนวน 1,950 ล้านบาท ให้แก่กลุ่มบริษัท ที ที เอส พลาสติก

นายฉี ชิง-ฟู่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (LH Bank) (ที่ 3 จากขวา) ร่วมลงนามให้การสนับสนุนสินเชื่อจำนวน 1,950 ล้านบาท แก่กลุ่มบริษัท ที ที เอส พลาสติก

ข่าวที่น่าสนใจ