DITP จัดโซนพิเศษ IDZ แสดงผลงานและต่อยอดการตลาดสินค้านวัตกรรมและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ในงาน STYLE Bangkok October 2019
ที่สุดของผลงานด้านนวัตกรรมและการออกแบบ การรวมตัวครั้งยิ่งใหญ่ของกิจกรรมในรูปแบบโซนพิเศษ Innovation and Design Zone (IDZ) โดยสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ภายในนิทรรศการได้รวบรวมสินค้าจากผู้ประกอบการ โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยให้ได้แสดงผลงาน สร้างโอกาสในการจำหน่ายสินค้าและบริการต่างๆ ตลอดจนเป็นการประชาสัมพันธ์ และต่อยอดธุรกิจสู่ตลาดสากล
Innovation and Design Zone (IDZ) แบ่งเป็น 5 โซน คือ
โซนที่ 1 นิทรรศการพิเศษ Innovation Showcase ในแนวคิด Circular Economy ซึ่งเป็นการจัดแสดงผลงานที่มีนวัตกรรมและการออกแบบที่นำแนวคิดเรื่องการหมุนเวียนเอาทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดมาจัดแสดง 13 ผลงาน อาทิ ผลิตภัณฑ์ของตกแต่งจากขวดพลาสติกจากแบรนด์ QUALY เก้าอี้จากใยกล้วยจากแบรนด์ HYPERDESIGN LAB และการนำก้านธูปมาสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นโต๊ะขนาดเล็กโดยแบรนด์ THINKK
โซนที่ 2 นิทรรศการ BIG TOY DESIGN ที่นำของเล่นสำหรับผู้สูงอายุที่พัฒนาร่วมกับสมาคมการค้าของเล่นและผลิตภัณฑ์เด็ดไทย 11 ผลงานมาร่วมจัดแสดง ตัวอย่างผลงานที่นำมาจัดแสดง อาทิ THINK THOUGHT ที่นำแนวคิดเรื่องการถวิลหาที่แปลว่าคิดถึง คิดถึงเกมในวันวาน มาปรับใช่ของเล่นโดยใช้หนังยางที่หาได้ทั่วไป มาเป็นส่วนหนึ่งในการเล่น โดยใช้ชื่อ ต่อ THINK THOUGHT มาจากการนำหนังยางมาดึงให้เกิดรูปร่าง โดยผ่านกระบวนการคิด และจินตนาการให้เกิดรูปร่างต่าง ๆ หรือ TELL YOU ABOUT ME ที่มีความหมายว่า เล่าเรื่องของฉันให้เธอฟัง เป็นเกมส์ที่ออกแบบมาเพื่อสร้างความเข้าใจและรู้จักกันมากขึ้นระหว่างผู้สูงอายุและคนใกล้ชิด ผ่านการได้พูดคุยถึงเรื่องราวของแต่ละคนและ"ช่วยกัน"สร้างอนุสรณ์แห่งความสัมพันธ์ขึ้น โดยจะมีบล็อกไม้ที่มีรูปร่างหน้าตาชวนให้นึกถึงสิ่งที่คุ้นเคยเป็นตัวกลางในการตั้งคําถามขึ้น นอกจากจะได้สนุกไปกับการสร้างอนุสรณ์นี้ร่วมกันผู้เล่นก็จะได้มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันมาขึ้นอีกด้วย
โซนที่ 3 นิทรรศการ DEWA นิทรรศการที่สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการได้เปิดประสบการณ์กับตลาดใหม่ ๆ ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่นำวัสดุที่เป็นของเหลือทางการเกษตรมาใช้ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1.New Material (พัฒนาผลงานโดยเน้นใช้วัสดุที่เหลือจากการเกษตร) ทั้งหมด 15 ผลงาน อาทิ แบรนด์ P.A.D BANANA LEAF ที่นำวัสดุใบกล้วยมาพัฒนาเป็นม่านกั้น หรือ แบรนด์ DEESAWAT ที่นำวัสดุที่เหลือจากการทำครกหินมาพัฒนาร่วมกับงานไม้จนเกิดเป็นครกรูปแบบใหม่ เป็นต้น 2. Lifestyle Product (พัฒนาผลงานจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรโดยเน้นให้เป็นของที่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน) อาทิ บริษัท SIRILAB Co.,Ltd นำสาหร่ายที่เป็นวัชพืชสำหรับเกษตรกรรมการเลี้ยงกุ้งมาพัฒนาให้เป็นสบู่ หรือ LABRADOR แบรนด์เครื่องหนังที่นำชิ้นหนังที่เหลือจากอุตสาหกรรมมาสร้างสรรค์เป็นเก้าอี้ เป็นต้น
โซนที่ 4 นิทรรศการ ECO นำผู้ประกอบการที่เข้าร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติกับผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นมาพบกับผู้ซื้อ เพื่อสร้างช่องทางการตลาดโดยเฉพาะตลาดในต่างประเทศ ซึ่งมีผู้ประกอบการเข้าร่วมทั้งหมด 15 ราย อาทิ MAISON CRAFT ที่นำปอกกมาสร้างสรรค์เป็นของตกแต่งบ้านที่ร่วมสมัย DYE DEE แบรนด์ยีนส์สัญชาติไทยที่ใช้ฝ้ายและการย้อมครามในการสร้างสรรค์ผลงาน เป็นต้น
โซนที่ 5 คูหาพิเศษ IDZ Bazaar เป็นส่วนส่งเสริมผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมและการออกแบบในการเข้าร่วมแสดงงานเพื่อให้ได้รับการต่อยอดด้านการตลาดมากขึ้นมีผู้ประกอบการเข้าร่วม 20 แบรนด์ คือ 1.103PAPER 2. AMPHAN 3. ARTWORK 4. BASIC TEEORY 5. BHUKRAM 6. BIJA 7. BUGBEAT 8. CLAMPIT 9. DECYCLE 10. FOLKCHARM 11. FOREST 12. GETNATURE 13. HUG 14. HYPERDESIGN LAB 15. JUTATIP 16. KOMA 17. LA'MIAT 18. PIM COLLECTION 19. SPORTMATE 20. THANK U EARTH
การจัดงานนิทรรศการ Innovation and Design Zone (IDZ) ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากทั้งในและต่างประเทศรวมทั้ง 5 โซน จำนวนกว่า 4,445 ราย มีมูลค่าโดยรวมที่ได้รับการสั่งซื้อเฉพาะโซน IDZ Bazaar ในระหว่างวันจัดงานประมาณ 1.4 ล้านบาท และมีมูลค่าสินค้าโดยรวมที่ได้รับการสั่งซื้อภายในระยะเวลา 1 ปีประมาณ 1.8 ล้านบาท