MONEY

โดย กองบรรณาธิการ M2F

22 มีนาคม 2564 : 20:18 น.

การเคหะแห่งชาติทำโครงการบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย “เคหะสุขประชา บ้านพร้อมอาชีพ” นำร่อง “ฉลองกรุง” และ “ร่มเกล้า” เปิดให้ลงทะเบียนจองบ้านเช่า 23-30 มี.ค. นี้

เมื่อวันที่ 22 มี.ค. นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เป็นประธานในงานแถลงข่าว โครงการบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย “บ้านเคหะสุขประชา” โครงการนำร่อง “ฉลองกรุง” และ “ร่มเกล้า” โดยมีคณะผู้บริหารการเคหะแห่งชาติ และสื่อมวลชนร่วมงาน ณ สำนักงานใหญ่การเคหะแห่งชาติ กรุงเทพฯ

นายทวีพงษ์ กล่าวว่า จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ทำให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีความห่วงใยประชาชนได้มอบนโยบายให้การเคหะแห่งชาติเน้นการจัดสร้างที่อยู่อาศัยประเภทเช่าเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและสร้างโอกาสให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้อย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ การเคหะแห่งชาติแห่งชาติได้เสนอ “โครงการบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย” ให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดยมีเป้าหมายจัดสร้าง 100,000 หน่วย ภายในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2564 - 2568) กำหนดส่งมอบปีละประมาณ 20,000 หน่วย โดยการเคหะแห่งชาติดำเนินโครงการดังกล่าวภายใต้ชื่อ “โครงการบ้านเคหะสุขประชา” เพื่อสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มเปราะบาง ข้าราชการชั้นผู้น้อย ข้าราชการเกษียณ รวมถึงผู้บุกรุกในพื้นที่สาธารณะ ทั้งยังเป็นการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) อีกทั้งเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560 - 2579) ที่ต้องการให้คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่ว (Housing for all) สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ประกอบด้วย ผู้ที่เรียนจบไม่มีงานทำ ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพ ลูกกตัญญู คนตกงาน/ไม่มีที่ดินทำกิน คนพิการและผู้สูงอายุที่ยังทำงานได้ และแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องการอาชีพ

นายทวีพงษ์ กล่าวว่า นอกเหนือจากการเช่าอยู่อาศัยในโครงการบ้านเคหะสุขประชาแล้ว การเคหะแห่งชาติยังได้สร้างเศรษฐกิจชุมชนคู่ขนานกันไปในมิติ มีบ้าน - มีอาชีพ - มีรายได้ - มีสุข ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยให้สามารถประกอบอาชีพตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีการพัฒนาชุมชนที่เปรียบเสมือนนิคมสร้างตนเอง ซึ่งนอกเหนือจากโซนที่พักอาศัยแล้ว ภายในโครงการยังจัดให้มีพื้นที่สีเขียว พื้นที่สันทนาการ พื้นที่จอดรถ และพื้นที่ “เศรษฐกิจสุขประชา”

สำหรับ พื้นที่ “เศรษฐกิจสุขประชา” นั้น ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ในการพัฒนาโครงการ มีจำนวน 6 รูปแบบ ได้แก่ เกษตรอินทรีย์ ปศุสัตว์ อาชีพบริการชุมชนและชุมชนข้างเคียง ตลาด อุตสาหกรรมขนาดเล็ก และศูนย์การค้าปลีก - ส่ง โดยมุ่งส่งเสริมให้ผู้อยู่อาศัยประกอบอาชีพอิสระในชุมชน รวมถึงสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนตามภูมิสังคมของพื้นที่นั้น ๆ เริ่มตั้งแต่การผลิตไปจนถึงช่องทางการจัดจำหน่าย เช่น พื้นที่ในเขตเมืองจัดทำเป็นตลาดชุมชน เนื่องจากประชาชนที่อยู่ในเมืองมักจะประกอบอาชีพอยู่แล้ว ส่วนโครงการในพื้นที่ภูมิภาคจัดให้มีการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และกสิกรรม เป็นต้น

นายทวีพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการบ้านเคหะสุขประชาอยู่ระหว่างดำเนินโครงการนำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 2 โครงการ จำนวน 572 หน่วย ได้แก่ โครงการบ้านเคหะสุขประชาร่มเกล้า จำนวน 270 หน่วย และโครงการบ้านเคหะสุขประชาฉลองกรุง จำนวน 302 หน่วย มี 4 รูปแบบ ประกอบด้วย แบบ X (สำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ) พื้นที่ใช้สอย 30 ตารางเมตร ค่าเช่า 1,500 บาท/เดือน แบบ A (ผู้มีสถานะโสด) พื้นที่ใช้สอย 30 ตารางเมตร ค่าเช่า 2,000 บาท/เดือน แบบ B (ครัวเรือนใหม่ 1 ห้องนอน) พื้นที่ใช้สอย 40 ตารางเมตร ค่าเช่า 2,500 บาท/เดือน และแบบ C (ครอบครัว 2 ห้องนอน) พื้นที่ใช้สอย 50 ตารางเมตร ค่าเช่า 3,000 บาท/เดือน

"การเคหะแห่งชาติเปิดให้ผู้มีรายได้น้อยลงทะเบียนจองอาคารเช่าโครงการบ้านเคหะสุขประชาร่มเกล้าและโครงการบ้านเคหะสุขประชาฉลองกรุง โดยมีคุณสมบัติดังนี้ 1. เป็นประชาชนที่ถือสัญชาติไทย 2. เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยอันเนื่องมาจากสถาณการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) อาทิ ถูกเลิกจ้างงาน เปลี่ยนอาชีพ ย้ายถิ่นฐาน รายได้ลดลง เป็นต้น 3. เป็นผู้ว่างงาน เป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว เป็นคนพิการ เป็นผู้สูงอายุ และเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการไล่รื้อเวนคืน ข้าราชการเกษียณ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และกฎหมายกำหนด 4. บรรลุนิติภาวะ สามารถจัดทำนิติกรรมสัญญากับการเคหะแห่งชาติได้ เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด 5. เป็นผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท ต่อเดือนต่อครัวเรือน จากเอกสารรับรองตนเองและผ่านการพิสูจน์ตรวจสอบหลักฐานจากการเคหะแห่งชาติ" ผู้ว่าการเคหะแห่งชาติกล่าว

ส่วนเงื่อนไขการจอง ประกอบด้วย 1. ผู้จองสิทธิต้องแสดงเจตจำนงการเข้าอยู่อาศัยประจำและร่วมดำเนินกิจการเศรษฐกิจสุขประชา (ต้องเข้าอบรมโครงการสุขประชา (Sukpracha Academy) ตามที่การเคหะแห่งชาติกำหนด 2. ผู้จองสิทธิกรณีเป็นผู้สูงอายุต้องมีสุขภาพแข็งแรง สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือกรณีเป็นคนพิการต้องขึ้นทะเบียนคนพิการกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และสามารถช่วยเหลือตัวเองได้หรือมีผู้ดูแลเป็นการเฉพาะ 3. ให้สิทธิจองที่อยู่อาศัยโครงการบ้านเคหะสุขประชาใด ๆ เพียงครอบครัวละ 1 หน่วย (ครอบครัว หมายถึง บิดา มารดา สามี ภรรยา (นิตินัยหรือพฤตินัย) บุตรหรือบุตรบุญธรรม) 4. ไม่สามารถโอนสิทธิการจองและสิทธิการเช่าให้กับผู้อื่น และไม่อนุญาตให้เช่าช่วง 5. ผู้จองสิทธิต้องชำระค่าเช่าล่วงหน้าหรือเงินมัดจำ 1 เดือน โดยค่าเช่าขึ้นอยู่กับประเภทของรูปแบบบ้านในแต่ละโครงการ

สำหรับ ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนจองอาคารเช่าโครงการบ้านเคหะสุขประชาร่มเกล้า และโครงการบ้านเคหะสุขประชาฉลองกรุง ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2564 เวลา 08.30 น. ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2564 เวลา 24.00 น. สามารถลงทะเบียนจองทางเว็บไซต์ของการเคหะแห่งชาติ www.nha.co.th หรือ LINE OA : @NHA.THAILAND หากไม่สะดวกมาลงทะเบียนด้วยตนเองได้ที่สำนักงานใหญ่ การเคหะแห่งชาติ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ หรือสำนักงานเคหะชุมชนของการเคหะแห่งชาติทั่วประเทศ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม Call Center 1615

ข่าวเด่น

The 1 Insight เผยกลยุทธ์มัดใจ Silver Spenders วัยเก๋าพร้อมเปย์ ชี้ทางรอดแบรนด์ยุค Complete Aged Society พร้อมเทรนด์เด่น Self-Indulgence & Health Enthusiast

The 1 Insight เผยกลยุทธ์มัดใจ Silver Spenders วัยเก๋าพร้อมเปย์ ชี้ทางรอดแบรนด์ยุค Complete Aged Society พร้อมเทรนด์เด่น Self-Indulgence & Health Enthusiast

LH Bank สนับสนุนสินเชื่อจำนวน 1,950 ล้านบาท ให้แก่กลุ่มบริษัท ที ที เอส พลาสติก

นายฉี ชิง-ฟู่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (LH Bank) (ที่ 3 จากขวา) ร่วมลงนามให้การสนับสนุนสินเชื่อจำนวน 1,950 ล้านบาท แก่กลุ่มบริษัท ที ที เอส พลาสติก

ข่าวที่น่าสนใจ