MONEY

25 สิงหาคม 2564 : 16:03 น.

ส.อ.ท.ชี้ยอดขายรถยนต์เดือนก.ค.ต่ำสุดรอบ7 เดือน ผลจากล็อกดาวน์ ลูกค้ายกเลิกใบจอง เลื่อนรับรถ เหตุโดนไฟแนนซ์เท

เมื่อวันที่ 25 ส.ค.นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผย ว่า ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนกรกฎาคม 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 52,442 คัน ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว ร้อยละ 11.62 และลดลงจากเดือนมิถุนายน 2564 ร้อยละ 15.08  เนื่องจากมีการล็อกดาวน์ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม ลูกค้าจึงระมัดระวังในการใช้เงิน มีการยกเลิกการจองรถหรือเลื่อนการรับรถออกไป

ขณะเดียวกันสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน รวมถึงโรงงานรถยนต์ ชะลอการผลิตรถยนต์รุ่นที่นิยมจากปัญหาการขาดแคลนชิพและชิ้นส่วนรถยนต์จากการระบาดของโควิด-19 ในประเทศและประเทศคู่ค้าที่ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์

“ผลจากโควิดทำให้ลูกค้ายกเลิกการจองรถยนต์หรือเลื่อนการรับรถ  ส่วนหนึ่งต้องระมัดระวังการใช้จ่ายในช่วงนี้  เพราะต้องคำนึงถึงรายได้ในอนาคตด้วย  ขณะที่ไฟแนนซ์ก็เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ตอนนี้ปฏิเสธลูกค้าถึง 50% โดยเฉพาะรถยนต์ขนาดเล็ก ที่ราคาไม่แพง แต่หากเป็นรถยนต์ราคาสูงเช่น รถยนต์ไฟฟ้าก็ยังมียอดขายที่ดีอยู่ หากรัฐทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ก็เชื่อว่าจะทำให้ดีขึ้น”

ด้านยอดขายรถจักรยานยนต์ เดือน กรกฎาคม อยู่ที่ 115,623 คัน ลดลง ร้อยละ 15.62 จากปีก่อน แต่ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2564 ร้อยละ 28.23

ด้านการผลิตจำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนกรกฎาคม 2564 มีทั้งสิ้น 122,852 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2563 ร้อยละ 37.52 เพราะฐานต่ำในปีที่แล้ว แต่ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2564 ร้อยละ 8.49 เนื่องจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ส่วนใหญ่พบกับปัญหาขาดแคลนชิพที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญและชิ้นส่วนรถยนต์บางชิ้นในการผลิต จึงต้องชะลอการผลิตรถยนต์บางรุ่น ส่งผลให้ภาพรวม 7 เดือน มีจำนวนรถยนต์ที่ผลิต 967,453 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม - กรกฎาคม 2563 ร้อยละ 39.11

สำหรับการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป  เดือนกรกฎาคม 2564 ส่งออกได้ 70,590 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2563 ร้อยละ 42.42 เพราะฐานต่ำในปีที่แล้ว แต่ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2564 ร้อยละ 14.97 โดยส่งออกลดลงในบางทวีป อาทิ เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศคู่ค้าลดลง ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 43,430.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2563 ร้อยละ 50.55

อย่างไรก็ตามประเทศคู่ค้าได้เปิดโรงงานผลิตรถยนต์เกือบเป็นปกติแล้ว จึงทำให้การส่งออกเครื่องยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เพิ่มขึ้นโดย  7 เดือนแรก (มกราคม - กรกฎาคม ) สามารถ ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 544,079 คัน โดยส่งออกเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ในระยะเวลาเดียวกัน ร้อยละ 35.98 มีมูลค่าการส่งออก 314,138.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม - กรกฎาคม 2563 ร้อยละ 44.88

ด้านนายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร   ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 น่าจะมีแนวโน้มคลี่คลายดีขึ้น หลังจำนวผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง ขณะที่มีการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น  หากรัฐบาลผ่อนคลายล็อกดาวน์ จะทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจกลับมา  ดังนั้นยอดการผลิตรถยนต์ในปีนี้น่าจะถึง 1.6 ล้านคัน โดยเป็นการส่งออกได้8-8.5 แสนคัน

ส่วนปัญหาการขาดแคลนชิปและชิ้นส่วนรถยนต์นั้น ส่งผลกระทบต่อการผลิตรถยนต์โดยรวม โดยกรณีของโตโยต้า ญี่ปุ่นประกาศลดการผลิตทั่วโลก 40% ในเดือนกันยายน หรือประมาณ 3 แสนคัน ซึ่งรวมถึงไทยด้วย ดังนั้นจากนี้ไปจนถึงสิ้นปีอาจจะมีบริษัทรถยนต์หลายค่าย มีกำลังการผลิตที่ลดลง

ข่าวเด่น

The 1 Insight เผยกลยุทธ์มัดใจ Silver Spenders วัยเก๋าพร้อมเปย์ ชี้ทางรอดแบรนด์ยุค Complete Aged Society พร้อมเทรนด์เด่น Self-Indulgence & Health Enthusiast

The 1 Insight เผยกลยุทธ์มัดใจ Silver Spenders วัยเก๋าพร้อมเปย์ ชี้ทางรอดแบรนด์ยุค Complete Aged Society พร้อมเทรนด์เด่น Self-Indulgence & Health Enthusiast

LH Bank สนับสนุนสินเชื่อจำนวน 1,950 ล้านบาท ให้แก่กลุ่มบริษัท ที ที เอส พลาสติก

นายฉี ชิง-ฟู่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (LH Bank) (ที่ 3 จากขวา) ร่วมลงนามให้การสนับสนุนสินเชื่อจำนวน 1,950 ล้านบาท แก่กลุ่มบริษัท ที ที เอส พลาสติก

ข่าวที่น่าสนใจ