THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

30 มีนาคม 2565 : 15:52 น.

ทนายนกเขา-รสนา ร้องรมว.ยุติธรรมแก้กฎหมายนิติวิทยาศาสตร์ชี้ขัดรธน.-ไม่อิสระสร้างภาระให้ประชาชน ยันดีเอสไอควรรับคดี"แตงโม"คดีพิเศษ

เมื่อวันที่ 30 มี.ค.นายนิติธร ล้ำเหลือ กลุ่มประชาชนคนไทย และ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.เข้ายื่นหนังสือต่อ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรมขอให้เร่งรัดแก้ไขพ.ร.บ การให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ พ.ศ.2559 เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ เป็นอุปสรรคและสร้างภาระให้กับประชาชน

นายนิติธร กล่าวว่า สืบเนื่องจากกรณี น.ส.ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ หรือ แตงโม เสียชีวิต การสอบสวนทั้งการกำหนดทิศทางคดี การนำเสนอข้อเท็จจริง และการให้ข่าวสารสวนทางกับข้อเท็จจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับการตาย ขัดแย้งกับสภาพศพที่ประจักษ์ด้วยสายตา ทำให้สาธารณชนเกิดความไม่เชื่อมั่นต่อการทำหน้าที่ของพนักงานสอบสวน จนนำไปสู่การยื่นคำร้องขอให้ผ่าชันสูตรศพซ้ำโดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ แต่ต้องผ่านความเห็นของคณะกรรมการกำกับการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ก่อน เห็นว่าข้อกำหนดตามพ.ร.บ.การให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ พ.ศ.2559 จำกัดสิทธิของประชาชน จึงมายื่นแก้ไข 3 ประเด็น

1.บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 258 กำหนดให้การสอบสวนต้องใช้ประโยชน์จากนิติวิทยาศาสตร์ และให้มีหน่วยงานที่เป็นอิสระด้านนิติวิทยาศาสตร์อย่างน้อย 2 หน่วยงาน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างมีทางเลือก แต่คณะกรรมการกำกับการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ มีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานมาร่วมเป็นคณะกรรมการ จึงมองว่าไม่มีความเป็นอิสระในการตรวจสอบ 2. ยกเลิกขั้นตอนผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ เพราะคณะกรรมการจะดำเนินการรับเรื่องหรือไม่ก็ได้ เช่น ผู้ร้องยื่นตรวจสอบ 4 เรื่องแต่อาจรับพิจารณาเพียง 1 เรื่อง อีกทั้ง ความล่าช้าจะส่งผลให้ข้อเท็จจริงบางอย่างเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากสภาพเดิมและอาจพิสูจน์ข้อเท็จจริงทางนิติวิทยาศาสตร์ไม่ได้อีกต่อไป ย่อมสูญเสียความยุติธรรมที่ประชาชนควรจะได้รับ และ 3.รายงานผลการผ่าพิสูจน์ซ้ำ หากผลการผ่าพิสูจน์ไม่ปรากฎในสำนวนคดี พนักงานสอบสวนจะถือว่ามีความผิด แม้มิใช่กรณีที่พนักงานสอบสวนเป็นผู้ร้องขอให้ผ่าชันสูตรซ้ำก็ตาม

ด้าน นายสมศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลเหลือเวลาอีกเพียง 1 ปี และการแก้กฎหมายแต่ละฉบับต้องทำอย่างรวดเร็วจนไม่แน่ใจว่าจะสามารถแก้ไขให้เสร็จภายใน 1 ปี ได้หรือไม่ แต่หากไม่ทันหรือไม่เสร็จก็ยังถือเป็นแนวทางและบรรทัดฐานให้คนรุ่นหลังเห็นถึงความสำคัญในการแก้กฎหมายฉบับนี้เพื่อคืนความยุติธรรมให้กับประชาชนและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ ในสาระของการเขียนกฎหมายในอดีตก็สู้ปัจจุบันไม่ได้ แต่ปัจจุบันก็สู้อนาคตไม่ได้ ดังนั้นต้องพัฒนาไปตามกลไกหรือวิถีทางของเครื่องมือที่เราใช้อย่างถูกต้องอย่างสมบูรณ์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งต้องมีคณะกรรมการเข้ามาร่วมกลั่นกรองให้ถึงจุดที่พอดี และให้สัญญาว่าจะติดตามเรื่องการแก้กฎหมายให้ถึงแม้จะมีเวลาน้อยนิดก็ตาม

นายนิติธร กล่าวภายหลังยื่นหนังสือว่า การที่ดีเอสไอรับสืบสวนคดีการเสียชีวิตของน.ส.ภัทรธิดา ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และเป็นกระบวนการพิจารณาเบื้องต้นก่อนเสนอให้คณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณาว่าจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ ส่วนที่นักกฎหมายบางคนแสดงความเห็นว่าคดีนี้ไม่เข้าเงื่อนไขเป็นคดีพิเศษนั้น คงมีประสบการณ์ไม่เท่ากัน เพราะคดีที่จะเข้าเป็นคดีพิเศษต้องเป็นความผิดมูลฐานตามบัญชีแนบท้ายพ.ร.บ.คดีพิเศษ หรือเป็นคดีอาญาทั่วไปที่คดีมีความซับซ้อน , เป็นที่สนใจของสังคม ซึ่งคดีนี้มีความสลับซับซ้อนต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาเป็นผู้สืบสวน และประชาชนติดตามให้ความสนใจจำนวนมาก คาดหวังว่าดีเอสไอจะรับเป็นคดีพิเศษ

“สาเหตุที่ต้องยื่นให้ดีเอสไอสอบสวน เพราะคดีมีข้อสังเกตหลายเรื่อง โดยเฉพาะการเก็บวัตถุพยาน เช่น เรือทำไมต้องตากแดด ต้องการให้อะไรแห้งระเหยไปหรือไม่ หรือคิดไม่ได้ว่าต้องนำเต้นท์มาครอบ และกรณีฟันหัก อย่าตอบว่าฟันอยู่ครบไม่หัก ประชาชนเขาคิดได้มากกว่านั้น ถ้าทำไม่ได้ก็ลาออก ตำรวจมีอำนาจตั้งคณะทที่ปรึกษาคดี แต่ก็ไม่ทำ หากทำไม่ได้ผมยินดีเข้าเป็นที่ปรึกษาและดูว่าใครทำได้ดีกว่ากัน” นายนิติธร กล่าว

ด้านน.ส.รสนา กล่าวว่า การเรียกร้องให้มีการแก้กฎหมาย เพื่อให้การทำงานแยกกันอย่างอิสระระหว่าง 2 หน่วยงาน และกรณีการเสียชีวิตของแตงโมเป็นสิ่งที่เราเรียกร้องก็หวังว่าดีเอสไอจะรับเป็นคดีพิเศษ ทั้งนี้ ถึงเวลาต้องปฏิรูปตำรวจอย่างจิงจัง คสช.รัฐประหารเข้ามามีจุดประสงค์ต้องการปฏิรูปบ้านเมืองก่อนการเลือกตั้ง และประชาชนก็เรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจ ผ่านมาหลายปีก็ยังไม่ทำ จนสังคมเกิดความสงสัยว่าตำรวจถูกใช้การเมืองใช่ไหมจึงไม่มีการปฏิรูป

ข่าวเด่น

ข่าวทั่วไทย

ข่าวที่น่าสนใจ