THAI NEWS

17 กุมภาพันธ์ 2566 : 09:45 น.

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์  2566 เวลา 14.30 น. ที่รัฐสภา นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.)

เปิดเผยว่า ประเด็นที่มีข้อสงสัยว่ามีผู้ได้รับสิทธิ์โครงการบ้านมั่นคงริมคลองเปรมประชากร เป็นนามสกุลเดียวกันกับตน ตามที่นายพันธุ์ศักดิ์ ซาบุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังปวงชนไทย ได้อภิปรายในการประชุมรัฐสภาเมื่อวานนี้ (15 ก.พ. 66) ทั้งนี้ ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า นามสกุลของผู้ได้รับสิทธิ์ดังกล่าวเป็นนามสกุลเดียวกันกับตนจริง ซึ่งได้สิทธิ์ตามสิทธิ์ของผู้มีรายได้น้อย สำหรับโครงการบ้านมั่นคงฯ ซึ่งดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. นั้น เป็นความต้องการของประชาชนจากล่างสู่บน ไม่ใช่บนสู่ล่าง คือประชาชนต้องการที่อยู่อาศัย ซึ่งผู้ที่ใช้นามสกุลเดียวกันกับตน เป็นผู้มีรายได้น้อยนั้น สามีเสียชีวิต 10 กว่าปี มีลูก 4 คน และได้ทำการลงทะเบียนขอรับสิทธิ์ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 2562 ก่อนที่ตนจะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. และตนมาดำรงตำแหน่งในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2562 ทั้งนี้ ขอเรียนให้ทราบว่าทุกอย่างเป็นการดำเนินการตามขั้นตอน ไม่มีอะไรเป็นพิเศษที่จะทำให้ใครได้สิทธิ์และเสียสิทธิ์ และขอยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามกรอบระเบียบ ไม่ผิดกฎหมายแน่นอน

นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นโครงการบ้านมั่นคงริมคลองเปรมประชากร ซ.งามวงศ์วาน ซอย 59 (ชุมชนสามัคคีเวทสุนทร) เอื้อประโยชน์ต่อผู้ผิดกฎหมายนั้น ขอชี้แจงว่า การพัฒนาที่อยู่อาศัยโครงการดังกล่าวเป็นกระบวนการของรัฐบาลที่ให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย และผู้ที่ไม่มีโอกาสพัฒนาที่อยู่อาศัย ได้มีโอกาสพัฒนาที่อยู่อาศัย นั่นคือ ให้ประชาชนที่รุกล้ำลำคลองได้ขึ้นมาอยู่ข้างบนอย่างถูกกฎหมาย มีคุณภาพชีวิตที่ดี เกิดความมั่นคงในชีวิต และมีการพูดถึงประเด็นว่าไม่มีการสำรวจความคิดเห็นของชุมชนในการทำโครงการบ้านมั่นคงนั้น กระบวนการดำเนินโครงการฯ มี หลายขั้นตอน ตั้งแต่การสำรวจข้อมูล โดยขั้นตอนสำคัญ คือ การประชุมกับพี่น้องประชาชนในการทำความเข้าใจร่วมกันในการกำหนดออกแบบที่อยู่อาศัยร่วมกัน เพื่อเป็นกระบวนการให้ชาวชุมชนได้ร่วมพูดคุยกัน และเป็นการสร้างความเข้าใจร่วมกัน

สำหรับประเด็นที่โครงการบ้านมั่นคงทำให้ทัศนียภาพคลองหายไปนั้น แต่เดิม คลองเปรมประชากรมีการรุกล้ำด้วยการปลูกสร้างสิ่งก่อสร้าง เป็นความกว้างเฉลี่ย 18-20 เมตร หลังจากที่ดำเนินโครงการไปแล้ว ทำให้มีความกว้างไม่น้อยกว่า 25 เมตร และเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ส่งผลให้ทัศนียภาพของคลองดีขึ้น อีกทั้งน้ำในคลองไหลสะดวกมากขึ้น ส่วนประเด็นการตรวจสอบสิทธิ์ในการสร้างบ้านเกินจำนวนที่เป็นจริง จาก 42 ครัวเรือน เป็น 101 ครัวเรือน ข้อเท็จจริงคือ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มีทั้งหมด 88 ครัวเรือน ซึ่งเป็นผู้ที่อาศัยในที่ดินเดิม จำนวน 97 ครัวเรือน และอีก 9 ครัวเรือน มาจากริมคลองใกล้เคียง เนื่องจากเดิมที่อยู่กันแบบแออัด จึงให้สิทธิ์เป็นครอบครัวขยาย ส่วนการหาประโยชน์ในที่ดินที่บอกว่าเป็นที่พัฒนาเศรษฐกิจ ขอชี้แจงว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของกรมธนารักษ์ ซึ่งได้ให้พี่น้องประชาชนได้เช่าอยู่อาศัยในราคาถูก ตารางวาละ 6 บาทต่อปี  ทำให้ประชาชนได้ลดรายจ่าย มีรายได้ในการดูแลตนเองมากขึ้น นอกจากนี้ ประเด็นที่กล่าวหาว่าการสร้างโครงการบ้านมั่นคงทำให้น้ำท่วมนั้น ขอชี้แจงว่าโครงการฯ  บริเวณวัดรังสิตนั้น เป็นพื้นที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ ซึ่งหลังจากดำเนินโครงการแล้ว ได้มีการขยายความกว้างของคลองเป็น 25 เมตร ส่งผลให้น้ำไหลได้สะดวกมากขึ้น

ข่าวเด่น

ข่าวทั่วไทย

ข่าวที่น่าสนใจ