THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

27 มกราคม 2562 : 18:28 น.

สสส.หนุน 30 ศพด.รุ่นใหม่ ขยายฐานพัฒนา ศพด.แบบก้าวกระโดดทั่วประเทศ

โครงการพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะเด็กปฐมวัย ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดปฐมนิเทศ : เครือข่ายศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบและกลไกดูแลเด็กปฐมวัย ให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) เกิดการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนเครือข่ายการจัดการความรู้ของ ศพด. จำนวน 30 แห่ง พร้อมทั้ง จัดเสวนา “ได้อะไรจากการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแบบก้าวกระโดด” เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกันระหว่าง 6 ศพด.แม่ข่าย ณ โรงแรม ทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น

น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็กเยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวว่า ได้มาเรียนรู้ไปด้วยกันว่า การพัฒนา ศพด.แบบก้าวกระโดด โดยพัฒนาทั้งระบบไม่ได้ทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งต้องยกระดับขึ้นมา หลายเรื่องต้องเรียนรู้แบบองค์รวม เพราะชีวิตเด็กเป็นองค์รวม สอดประสานกันทั้งกาย ใจ จิตวิญญาณ ปัญญา พัฒนาการต่างๆ และสอดประสานไปยังบ้าน โรงเรียน ศพด. และชุมชน ซึ่ง สสส.เห็นความสำคัญของช่วงเวลาทองของชีวิตเป็นอย่างยิ่ง ด้วยภารกิจหลักในเรื่องการทำให้คนไทยมีสุขภาพดี โดยลดปัจจัยเสี่ยง 3 เรื่องหลัก คือ เหล้า บุหรี่ อุบัติเหตุ อีกภารกิจที่สำคัญคือการสร้างฐานทุนชีวิต ตั้งแต่อยู่ในครรภ์เป็นงานที่เสมือนปิดทองหลังพระ เพราะกว่าจะเห็นผลต้องใช้เวลา

ทั้งนี้ สสส.คาดหวังให้ภาคีเครือข่าย ศพด.รุ่นใหม่ จำนวน 30 แห่ง โดยมี ศพด.แม่ข่าย 6 แห่ง จาก 23 แห่งทั่วประเทศมาแลกเปลี่ยนความรู้ จึงอยากให้มองอนาคตไปด้วยกัน เพราะขณะนี้ เราได้กระจายขยายความร่วมมือออกไป โดยมี ศพด.30 แห่ง ได้เข้ามาเรียนรู้ เก็บประสบการณ์ ลงมือทำ จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเด็ก และไปต่อยอดเพื่อไปเป็นครู โค้ช เป็นศูนย์เรียนรู้รุ่นต่อๆ ไป ด้วยสภาวการณ์เด็กเกิดใหม่ต่อปีไม่เกิน 700,000 คน หากร่วมมือกันทำให้ ศพด.ทั้งประเทศเกิดการพัฒนาได้ทั้งหมด ศพด.จะเป็นจุดคานงัดที่สำคัญของสังคมสูงวัยในอีกไม่ช้า เราจะทำให้คนรุ่นใหม่มีศักยภาพที่สมบูรณ์พร้อมสามารถที่จะนำพาสังคมสูงวัยก้าวต่อไปได้

รศ.ดร.จุฑามาศ โชติบาง ผจก.โครงการสร้างเสริมศักยภาพชุมชนท้องถิ่นในการดูแลเด็กปฐมวัย (COACT) กล่าวถึง สถานการณ์เด็กปฐมวัยในยุค 4.0 ว่า ปัจจุบันมีเด็กปฐมวัยประมาณ700,000 คน และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ แล ะเมื่อเทคโนโลยีก้าวไกล แต่ด้านพัฒนาการของเด็กในประเทศไทยมีปัญหามานานกว่า 17 ปี ที่มีเด็กพัฒนาการล่าช้ากว่า 30% จากการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า การที่ สธ. เป็นผู้รับหน้าที่ช่วยและแก้ไขปัญหาเด็กพัฒนาการล่าช้า เพียงหน่วยงานเดียวนั้นไม่เพียงพอ ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะท้องถิ่นต้องเข้าใจถึงปัญหา มาร่วมกันแก้ไข

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้า ดังนี้ 1.ปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ เช่น การพบปัญหาการติดเชื้อมือเท้าปากภายในโรงเรียน หรือครอบครัวดูแลสุขภาพเด็กไม่ครบถ้วน เป็นต้น 2.การก้าวสู่สังคมดิจิทัล ปัจจุบันพบว่าเด็กใช้มือถือมากเกินไป มีผลกระทบต่อสมองส่วนหน้า ทำให้พัฒนาการด้านภาษาล่าช้า และมีผลกระทบโดยตรงกับการพัฒนาการด้านสติปัญญา 3.การเปลี่ยนแปลงของครอบครัว ที่ปัจจุบันเป็นครอบครัวแหว่งกลาง ผู้สูงอายุรับหน้าที่เลี้ยงเด็กแทนพ่อแม่ ทำให้ผู้สูงอายุขาดรายได้ เพราะไม่สามารถทำงานประจำได้ และมีปัญหาสุขภาพ เช่น ปวดหลัง นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น และ 4.ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ที่ขณะนี้ การจัดการศึกษาระหว่าง ศพด.และสถานศึกษาเอกชน ยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

“เมื่อเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 การศึกษาต้องลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมในเรื่องสติปัญญา กระตุ้นให้นักเรียนมีพัฒนาการที่สมวัย โดยส่งเสริมให้เด็กมีสติปัญญาที่เฉียบแหลม(Head) มีทักษะที่เห็นผล (hand) คือให้เด็กลงมือทำจริง ให้เด็กมีสุขภาพที่แข็งแรง (Health) มีจิตใจงดงาม (Heart) การปรับเปลี่ยนกรอบความคิด (Mindset) เสริมทักษะ (Skill-Set) และมีพฤติกรรมที่ดี (Behavior Set) ทั้งนี้ ต้องเน้นสู่การเป็นผลเมืองที่ดี มีคุณภาพ เน้นภูมิปัญญาท้องถิ่นพัฒนาเด็ก ให้รู้จักพอเพียง มีวินัย สุจริต มีจิตสาธารณะและมีความรับผิดชอบ”รศ.ดร.จุฑามาศ กล่าว

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ