สถ.จับมือจุฬาฯขับเคลื่อนโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน พร้อมทำโครงการวิจัยฯลงพื้นที่เก็บตัวอย่าง 4 ภาคเอาเป็นข้อมูลคาร์บอนเครดิตคืนรายได้กลับสู่ชุมชน
เมื่อวันที่ 29 ม.ค. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) พร้อมด้วย ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ผอ.องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ลงนามความร่วมมือพัฒนาและขับเคลื่อนการแยกขยะเศษอาหารสู่ถังขยะอินทรีย์หรือถังขยะเปียกครัวเรือน ณ อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีสถ. กล่าวว่า ปัญหาขยะของประเทศไทย ถือเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล ได้มีมติให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะของประเทศ สถมีภารกิจหลักในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเห็นว่า หนึ่งในหนทางการแก้ไขที่สามารถทำได้ทันที คือ การจัดทำถังขยะอินทรี หรือถังขยะเปียกประจำครัวเรือนและชุมชนให้ได้มากที่สุด ซึ่ง ดร.ปฤถา พรหมเลิศ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้มีดำริให้จัดทำ “ถังขยะอินทรีย์หรือถังขยะเปียกครัวเรือน” ขึ้น
ทั้งนี้ เริ่มจากจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นลำดับแรก และขยายผลไปยังส่วนราชการต่างๆ โดยสถ.ได้สานต่อแนวทางดังกล่าวต่อไปยังสถานศึกษา โรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัด อปท. และ ศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน รวมไปถึงครัวเรือนของข้าราชการ ผู้บริหาร อปท. ครัวเรือนสมาชิกสภา อปท. ครัวเรือนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และ ครัวเรือนของประชาชน เพื่อคัดแยกขยะอินทรีย์หรือขยะเปียกครัวเรือน ไปใช้ประโยชน์ในการจัดทำปุ๋ย สำหรับปลูกพืชชนิดต่างๆ ซึ่งมีเป้าหมายให้ทุกครัวเรือนมีถังขยะเปียกให้ครบ 100% ภายในเดือนเม.ย. 2562
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ในปี 2562 สถ.ร่วมกับจุฬาฯ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ชมรมแม่บ้านสถ. ชมรมแม่บ้านท้องถิ่นไทยจังหวัด และสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดทำโครงการวิจัยการประเมินและรับรองผลการบริหารจัดการขยะเศษอาหาร ตามแนวทางการทำถังขยะเปียกในการช่วยลดสภาวะโลกร้อน โดยเทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยได้มีการดำเนินการวิเคราะห์อัตราการเกิดขยะเศษอาหารต่อคนต่อวันของคนไทย โดยลงพื้นที่ 4 จังหวัดได้แก่ ภาคเหนือจ.ลำพูน ภาคกลางจ.ลพบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย และภาคใต้จ. สงขลา เก็บตัวอย่างวัดปริมาณขยะจริงของครัวเรือนที่ร่วมโครงการจำนวน 2,400 ครัวเรือน
นอกจากนั้น ยังเก็บตัวอย่างในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนในสังกัดอปท.จำนวน 40 และ 20 แห่งตามลำดับ เป็นเวลา 1 เดือน ให้ได้ค่าเฉลี่ยอัตราการเกิดขยะเศษอาหารที่สามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงของสถ.ในการลดภาระการบริหารจัดการขยะของส่วนรวม และสร้างมูลค่าเพิ่มจากสารปรับปรุงดิน ที่ได้จากการหมักขยะเศษอาหารในถังขยะเปียก ซึ่งในอนาคตการจัดทำถังขยะเปียกครัวเรือน สามารถประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้จากการดำเนินโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน หากได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองเพื่อพัฒนาคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำเร็จ อาจมีรายได้ในอนาคตกลับคืนสู่ชุมชน
สำหรับ จุฬาฯจะมีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนาโครงการโดยให้การสนับสนุนด้านวิชาการ โดยมอบหมายให้ รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ พัฒนาระเบียบวิธีวิจัยการประเมินฯ ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ส่วนขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก มีเป้าหมายให้ประเทศไทยลดก๊าซเรือนกระจกเป็นภารกิจโดยตรงอยู่แล้ว หากสถ.พัฒนาโครงการนี้ได้สำเร็จจะสร้างประโยชน์ให้สังคมโลกอย่างมาก