THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

04 กุมภาพันธ์ 2562 : 20:41 น.

มหาดไทยยกปัญหาขยะวาระแห่งชาติ ย้ำจำเป็นต้องมีการรณรงค์แยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และมีการนำ 3R มาใช้

เมื่อวันที่ 4 ก.พ. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ "20ปีขยะหมดประเทศไทย ด้วยกลไกตลาดทุน”ว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาขยะที่ดีที่สุดคือ การกำจัดด้วยการเผาเป็นพลังงานในรูปโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ โดยให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมทุนกับหน่วยงานท้องถิ่นในรูปแบบใดก็ได้ เพื่อให้โครงการโรงไฟฟ้าขยะมีความคุ้มทุน เพราะหากนำขยะไปเผาอย่างเดียว จะไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน และภาครัฐเองก็ไม่มีเงินลงทุนเพียงพอในการสนับสนุน

ทั้งนี้ การกำจัดขยะในแต่ละพื้นที่เป็นความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ซึ่งเป็นนิติบุคคล โดย กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดให้มีศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวม (คลัสเตอร์)รวม 300กว่าแห่งเพื่อรองรับการกำจัดขยะของอปท. ในพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงกัน แต่อุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถกำจัดขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือการที่ค่ากำจัดขยะที่ประชาชนจ่ายนั้นไม่สะท้อนต้นทุนในการกำจัดขยะ ผู้ทิ้งขยะไม่ได้เป็นผู้รับภาระขยะที่สร้างขึ้น ทำให้อปท.ขาดแคลนงบประมาณในการกำจัดขยะ ส่งผลให้เกิดปัญหาขยะตกค้าง การทิ้งขยะข้ามเขต เป็นต้น

อย่าไรก็ตาม ในแต่ละปีกทม.ต้องใช้เงินในการกำจัดขยะปีละ 6.5 พันล้านบาท แต่เก็บเงินค่ากำจัดขยะได้เพียง 500 ล้านบาท ส่วนท้องถิ่นมีภาระในการกำจัดขยะสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท ดังนั้น จำเป็นต้องมีการรณรงค์แยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และมีการนำ 3R คือ Reduce Reuse Recycle มาใช้เพื่อลดปริมาณขยะลง โดยยอมรับว่าขณะนี้มีปริมาณขยะราวปีละ 10 ล้านตันจากปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละปีของไทย 27 ล้านตันที่ไม่ได้มีการดำเนินการอย่างถูกต้อง

ด้าน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.) กล่าวว่า ปัญหาขยะถือเป็นวาระของชาติ ที่ท่าน นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก ในการขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่ง รมว.มหาดไทยก็ได้ดำเนินการขับเคลื่อน โดยมีการกำหนดแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ขึ้น ซึ่งนโยบายด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและขยะมูลฝอยแบบยั่งยืนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ต้องเริ่มจากภายในหน่วยงาน เพื่อการเป็นแบบอย่างที่ดีก่อนถ่ายทอดนโยบายสู่ประชาชน

นอกจากนั้น ได้ให้อปท. สร้างรูปแบบการจัดการขยะที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ ภายใต้หลัก"ประชารัฐ" ซึ่งเป็นการสร้างความรับผิดชอบ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชน ด้วยการถ่ายทอดความรู้ การปลูกฝังจิตสำนึก การสร้างกลุ่มเครือข่ายเพื่อการเฝ้าระวังและรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทุกคนต้องตระหนักรู้นั่นคือ คน เป็นผู้ก่อให้เกิดขยะ ดังนั้น การเสริมสร้างจิตสำนึกในตัวเรา

อธิบดีสถ.กล่าวว่า ล่าสุด สถ.ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ชมรมแม่บ้านท้องถิ่นไทยจังหวัด และสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดทำโครงการวิจัยการประเมินและรับรองผลการบริหารจัดการขยะเศษอาหารตามแนวทางการทำถังขยะเปียกในการช่วยลดสภาวะโลกร้อน โดยเทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การดำเนินการครั้งนี้ หากได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองเพื่อพัฒนาคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำเร็จ ก็จะสามารถมีรายได้ในอนาคตกลับคืนสู่ชุมชนอย่างแน่นอน

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ