THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

14 กรกฎาคม 2562 : 17:33 น.

คณะผู้แทนประเทศไทยนำเสนอผลงานการจัดตั้ง กสศ. ในที่ประชุมสหประชาชาติ ย้ำเป็นความก้าวหน้าของไทยในวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา

เมื่อวันที่ 14 ก.ค. น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมความร่วมมือนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. ในฐานะผู้แทนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับคณะผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูง ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (2019 High-Level Political Forum on Sustainable Development: HLPF 2019) ระหว่างวันที่ 9-18 ก.ค. 62 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

ทั้งนี้ การประชุม HLPF เป็นการประชุมประจำปีที่สหประชาชาติจัดขึ้นเพื่อให้ประเทศต่างๆ ได้ร่วมทบทวนความคืบหน้าการดำเนินการ ตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) นับแต่ผู้นำประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทยได้ร่วมรับรองวาระดังกล่าวเมื่อเดือน ก.ย. 2558 โดยในปีนี้มีหัวข้อหลักคือ การเสริมสร้างพลังประชากรทุกกลุ่มผ่านการพัฒนาที่ทั่วถึงและอย่างเสมอภาค  และมีการทบทวนความคืบหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เชิงลึกที่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา (SDG4) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการลดความเหลื่อมล้ำ (SDG10)

อย่างไรก็ตาม คณะผู้แทนประเทศไทยได้กล่าวถ้อยแถลงของประเทศไทยในเวทีหารือทางการเมืองระดับสูง ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (HLPF 2019) ทั้งในรอบการประชุมรายงานความก้าวหน้าในวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา (SDG4)

น.ส.ดุริยา อมตวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้กล่าวรายงานความก้าวหน้าของประเทศไทย ในการสร้างหลักประกันว่า ทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และในรอบการประชุมรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการลดความเหลื่อมล้ำ (SDG10) โดย รศ.ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้กล่าวรายงานความก้าวหน้าในการลดความเหลื่อมล้ำด้านต่างๆของประเทศไทย เพื่อยืนยันความมุ่งมั่นของไทย ในการขับเคลื่อนวาระเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยปี 2030 ที่จะไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง รวมทั้งความก้าวหน้าของการดำเนินงานของรัฐบาลไทยในวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษาและการลดความความเหลื่อมล้ำที่เป็นรูปธรรม เช่น การจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาขึ้น เมื่อปี 2561

นอกจากนั้น คณะผู้แทนรัฐบาลไทยได้รายงานแก่ที่ประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (HLPF 2019) ว่า รัฐบาลไทยได้จัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาขึ้น จากข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ตามบทบัญญัติของมาตรา 54 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส20 เปอร์เซ็นต์ท้ายสุดของประเทศ

ขณะเดียวกัน คณะผู้แทนประเทศไทยได้นำส่งรายงานวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Review: VNR) ถึงผลงานความก้าวหน้าตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านต่างๆ ที่ถึงครบกำหนดรายงานในปีนี้ โดยในการรายงานตามเป้าหมายที่ 4 (SDG4) การสร้างหลักประกันว่า ทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียมและสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยได้มีการรายงานผลการดำเนินงานในปีแรกของ กสศ. ใน 2 ประเด็นสำคัญ

ได้แก่ 1.ปีการศึกษา 2561 นับเป็นครั้งแรกของไทยในการปฏิรูประบบการจัดสรรงบประมาณด้วยหลักความเสมอภาค ด้วยมาตรการการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (CCT) ให้ตรงตามความต้องการของนักเรียนเป็นรายบุคคลอย่างแท้จริง และ 2.ไทยยังคงให้ความสำคัญกับการนำเด็กตกหล่นและเด็กออกกลางคันให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา

ข่าวเด่น

ข่าวทั่วไทย

ข่าวที่น่าสนใจ