THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

29 ธันวาคม 2562 : 15:19 น.

เลขาฯศาลยุติธรรมพอใจการทำงานของตำรวจศาลรุ่นแรก 35 คนทำงานครบเครื่องฝีมือเยี่ยม ตามจับผู้หนีหมายศาลได้ 61 หมาย เล็งเพิ่มให้ถึง 309 คน

เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยถึงผลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจศาลหรือตำรวจศาล รุ่นแรก 35 คน ที่เริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค.2562 ว่า ภารกิจหลักของตำรวจศาลจะมี 2 ส่วน คือนอกจากจะดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณศาลแล้วต้องดำเนินการตามหมายจับของศาล ซึ่งการกวดขันดูแลความเรียบร้อยและมาตรฐานความปลอดภัยบริเวณศาลนั้น จากที่ตนออกมาตรการเร่งรัด และกวดขัน กำชับการตรวจค้นเพื่อให้เกิดความปลอดภัยบริเวณศาล ซึ่งเดิมมีแต่ รปภ.ที่จ้างมาจากองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกฯ (อผศ.) ขณะนี้ตำรวจศาลก็มาร่วมดูแลความปลอดภัยให้เข้มงวดยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ตำรวจศาลทั้งหมด 35 คน ลงพื้นที่ศาลแต่ละแห่งทำการรวบรวมข้อมูลพื้นฐาน เช่น อาคาร สถานที่ โดยตำรวจศาล 1 คนจะรวบรวมข้อมูลศาล 5 หรือ 7 หรือ 10 แห่ง หากเกิดเหตุในศาลใดก็จะต้องรายงานได้ทันทีว่ามีปัญหาเกิดจากอะไร และระบบรักษาความปลอดภัย-เครื่องมือมีพอหรือไม่ มีการกระทำใดของเจ้าหน้าที่ฝ่ายใดละหลวมหรือไม่

นอกจากนี้ มีสถิติที่ตำรวจศาลได้ปฏิบัติหน้าที่ในการติดตามจับกุม ผู้หลบหนีหมายของศาล ตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค.- 30 พ.ย. 2562 แจ้งดำเนินการจับกุมตัว-แจ้งอายัดตัว-เพิกถอนหมายจับ 136 หมาย โดยจับกุมตัวได้ 61 หมาย , แจ้งอายัดตัว 14 หมาย , เพิกถอนหมายจับ 61 หมาย

ขณะที่ การติดตามจับกุมผู้หนีหมาย ตนก็ให้นโยบายกับว่า จากเดิมที่ไม่เคยมีเจ้าภาพจากศาลในการจับกุมตัว ซึ่งจะเป็นความแตกต่างระหว่างอดีตกับปัจจุบันที่มีกฎหมายรองรับให้ตำรวจศาลดำเนินการได้ ดังนั้นตำรวจศาลที่แบ่งเป็น 5-6 ทีมแต่ละทีมก็ต้องประชุมปรึกษาหารือกัน และมีคณะกรรมการกำกับการบริหารเจ้าพนักงานตำรวจศาล ร่วมกำกับดูแลนำหมายจับทั้งหมดของศาลมาวิเคราะห์ว่าส่วนไหนมีความจำเป็นเร่งด่วนที่สามารถจับกุมตัวแล้วทำให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงอัตรากำลังตำรวจศาลจะต้องปรับเพิ่มว่า ภายในเดือน เม.ย. 2563 จะจัดให้มีอัตรากำลังคอร์ทมาแชล เพิ่มจาก 35 คนให้เป็น 309 คน (แผนเดิมตั้งเป้าดำเนินให้ได้ภายใน 5 ปี) หลังจากที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม (ก.ศ.) และประธานศาลฎีกาแล้ว จะได้นำมาจัดสรรไปประจำศาลในพื้นที่ กทม. , ศาลจังหวัด , ศาลแขวง , ศาลเยาวชนและครอบครัว , ศาลแรงงานภาค , ศาลอาญาคดีทุจริตภาค ทั่วประเทศ 280 แห่งๆ ละ 1-2 คน หลังจากที่มีการฝึกอบรมแล้วคาดว่าภายใน 3 เดือนจะกระจายส่งไปยังศาลต่างๆ ได้ ซึ่งจะเป็นเหมือนกันมีตัวแทนส่วนกลางไปดูระบบมาตรฐานความปลอดภัย กำกับ ติดตาม จับกุมตัวผู้หลบหนีหมายศาลจากเดิมไม่เคยมี

ข่าวเด่น

ข่าวทั่วไทย

ข่าวที่น่าสนใจ