THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

08 กุมภาพันธ์ 2563 : 16:16 น.

อธิบดี พช.ร่วมงานวันมาฆบูชา หนุนเสริมสร้างหลักการ “หัวใจพระพุทธศาสนา วัด ประชา รัฐ สร้างสุข”

เมื่อวันที่ 8 ก.พ.นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน(พช.) ร่วมงานวันมาฆบูชา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ประจำปี 2563 โดยมี สมเด็จมหาวีรวงศ์ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นประธานในพิธี รวมถึงมีการเสวนา เรื่อง “หัวใจพระพุทธศาสนา วัด ประชา รัฐ สร้างสุข” โดย พระธรรมรัตนาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายวิรัช จำปานิล ประธานจิตอาสาอำเภอพุทธมณฑล และผู้แทนภาคประชาชน

สมเด็จมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ฝ่ายสาธารณูปการ ของมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นประธานโครงการ วัด ประชา รัฐ สร้างสุข มาตั้งแต่เริ่มต้น กล่าวสัมโมทนียกถาความว่า “โครงการ วัด ประชา รัฐ สร้างสุข” แนวคิดเริ่มต้นจากสำนักงานพระพุทธศาสนาได้หารือว่าจะทำโครงการวัดสร้างสุข อาตมาจึงทักท้วงว่า ทำไมจึงมีวัดอย่างเดียว ประชาชนไปไหน รัฐบาลไปไหน เราจะเดินคนเดียวหรือ ไม่ใช้แล้ว เราต้องไปกันทุกฝ่าย ทั้งวัดซึ่งเป็นพระสงฆ์ และประชาชนซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชนโดยส่วนใหญ่ และรัฐบาล ยกตัวอย่างเช่น องค์การบริหารส่วนตำบลเหล่านี้ เป็นต้น เมื่อทำโครงการนี้ขึ้นได้ท่านเจ้าคุณธรรมรัตนาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ที่ได้มีเทคนิคในการชักชวนดำเนินโครงการเป็นอย่างดียิ่ง

ทั้งนี้ ทำให้จังหวัดปทุมธานีเป็นแกนนำเป็นตัวอย่าง และเป็นจังหวัดที่สามารถไปศึกษาดูงานโครงการนี้ได้ว่า โครงการนี้สำเร็จโดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ทั้งภาครัฐ และประชาชน ทางภาครัฐนั้น ได้แรงใจจากท่านอธิบดีฯ สุทธิพงษ์ จุลเจริญ เมื่อคราวท่านอยู่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ท่านได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและคณะสงฆ์ที่พุทธมณฑล ท่านเป็นกำลังสำคัญที่ผลักดันภาครัฐให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำโครงการนี้ให้เจริญและยั่งยืน โดยมีแนวคิดร่วมกันว่า อย่างน้อยหนึ่งตำบลมีหนึ่งวัดหรือสองวัดเป็นต้นแบบให้ได้ ซึ่งปัจจุบันทำได้แล้วกว่า 1000 แห่ง

โครงการฯ นี้ ต้องยกความดีความชอบให้คณะสงฆ์ ที่นำโดยท่านเจ้าคุณเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ก่อให้เกิดผลงานของคณะสงฆ์ที่พยายามจะทำให้วัดเป็นศูนย์กลางของประชาชนอย่างสมัยโบราณที่พูดกันว่า “วัดนั้น เป็นได้ทุกอย่างของหมู่บ้านนั้น” ใครมีปัญหาทุกข์ร้อนก็ไปหาหลวงพ่อ เจ้าอาวาส ทำให้เห็นว่าวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน เราจะทำอย่างไรให้วัดกลับมาเป็นเช่นเดิม และให้วัดกลับมาเป็นผู้นำชุมชนจริงอีกครั้งหนึ่ง จะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้ามาร่วมดูแลวัด การสร้างความเข้าใจเป็นส่วนสำคัญ และโครงการนี้จะเป็นไปด้วยดี ด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ร่วมดูแลวัด ดังรายงานที่ได้รับนับว่าเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง

การจัดเสวนาให้ความรู้โครงการ วัด ประชา รัฐ สร้างสุข ที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยจัดขึ้นครั้งนี้ อยากฝากว่า..เมื่อเราทั้งหลายเป็นภิกษุสามเณรก็ดี เป็นฆราวาสก็ดี เรามารู้มาทราบโครงการนี้ เรามาร่วมกันทำวัตรของเราให้เป็นผู้นำท้องถิ่นอย่างแท้จริง ถ้าทำได้เช่นนี้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาจะมีคนประพฤติปฏิบัติกันอย่างจริงจัง ตามหลักในโอวาทพระปาติโมกข์ “การไม่ทำบาปทั้งปวงทำจิตใจให้ผ่องใส ด้วยการเว้นจากบาปความชั่วทั้งปวงนั้น ถือเป็นหลักธรรมที่เป็นมาตรฐานที่เป็นหลักการอย่างแท้จริงของศาสนา” ขออนุโมทนากับท่านทั้งหลายอีกครั้งหนึ่ง

พระธรรมรัตนาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี กล่าวถึงโครงการ วัด ประชา รัฐ สร้างสุข ว่า การขับเคลื่อนโครงการดำเนินการภายใต้มติมหาเถรสมาคม ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการใช้แนวทาง 5 ส เพื่อจัดการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ และกิจกรรมเชิงพุทธ ก่อให้เกิดความเชื่อมโยงและสัมพันธภาพที่ดีให้เกิดขึ้นระหว่างวัดกับชุมชน โดยใช้รูปแบบการดำเนินการที่เรียกว่า 3 5 7 9 ซึ่งมีความหมาย ได้แก่ 3 พันธกิจ สู่วัดสวยด้วยความสุข ด้วย 1.การพัฒนาพื้นที่ทางกายภาพ 2.การพัฒนาพื้นที่ทางสังคม และ 3.การพัฒนาจิตใจและปัญญาของวัดและชุมชนตามแนวพระพุทธศาสนา

5 ส ก็เพื่อสร้างสุขภาวะทางปัญญา ด้วยแนวทาง 5ส คือ สะสาง สะดวก สะอาด สร้างมาตรฐาน และสร้างวินัย 7 แนวทางการดำเนินงาน สร้างสัปปายะสู่วัดด้วยวิถี 5 ส จะประกอบด้วย 1.จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงานฯ 2.ประกาศนโยบาย 3.อบรมให้ความรู้ 4.สำรวจพื้นที่ด้วยคณะทำงานและแบ่งพื้นที่รับผิดชอบ 5.จัดทำแผนพัฒนา ปรับปรุงพื้นที่ 6.Kick off และ 7.ติดตาม ประเมินผล และสรุปรายงานผลการดำเนินงาน

สำหรับ 9 แนวปฏิบัติในการพัฒนาพื้นที่ 5 ส ในวัด 9 พื้นที่ สู่ “วัดวร้างสุข” ประกอบด้วย 1.ป้ายชื่อวัด บริเวณหน้าวัด และแผนผังวัด 2.การจัดการจราจร ป้ายจราจร และที่จอดรถ 3.การจัดระบบคลังวัสดุสงฆ์ 4.ห้องน้ำ 5.การจัดการขยะ 6.สภาพแวดล้อมทั่วไป (ความเป็นระเบียบ ความปลอดภัยภายในวัด) 7.ระบบไฟฟ้า การป้องกันอัคคีภัย 8.โรงครัว 9.อาคารเสนาสนะต่างๆ ภายในวัด โดยสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามลักษณะของพื้นที่ ซึ่งทุกกระบวนการขับเคลื่อนโครงการฯ ทั้งหมดมุ่งเน้นการร่วมกันดำเนินกิจกรรม เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างวัดและคนในชุมชน เริ่มจากวัดเป็นหลัก โดยต้องทำให้ “หน้าบ้านหน้ามอง ในบ้านหน้าดู คนอยู่ในบ้านหน้ารัก” และบ้าน หมายรวมทั้ง บ้านของพระและบ้านของคน เกิดเป็นชุมชนหน้าอยู่ของเรา

ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ในฐานะตัวแทนของภาครัฐ ให้ความเห็นต่อโครงการฯ ว่า โครงการนี้เป็นเรื่องดีที่เกิดจากสมเด็จพระมหาวีรงศ์ ได้มาเชิญชวนราชการ คือ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เข้าร่วมโครงการเพื่อเป็นโซ่ข้อกลางระหว่างวัด ราชการ ประชาชน ผ่านผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง เทศบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก่อนที่จะเสนอขออนุมัติจากมหาเถรสมาคม ปัจจุบัน ผมในฐานะอธิบดีกรมการพัฒนาชุม ได้นำโครงการดีๆ นี้มาสานต่อผ่านทางหน่วยงานในสังกัดกรมฯ ที่มีอยู่ทุกจังหวัด ทุกอำเภอทั่วประเทศ

ด้วยเหตุผลว่า วัดยังคงเป็นที่พึ่งสำคัญของของประชาชน การพัฒนาให้วัดเป็นพื้นที่สำหรับทุกภาคส่วนชุมชนได้เข้ามาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน จึงเกิดเป็นโครงการ วัด ประชา รัฐ สร้างสุข และความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้อยู่ที่ “ผู้นำ” ผู้นำมีความเข้าใจ ผู้นำให้ความจริงจังในการดำเนินโครงการ และผู้นำสามารถขับเคลื่อนโครงการจนเกิดเป็นแบบอย่างให้กับคนชุมชน และการพัฒนาตามบริบทของพื้นที่อย่างไม่หยุดยั้ง จะก่อให้เกิดทั้งประสิทธิผลและประสิทธิภาพของโครงการฯ

การขับเคลื่อนโครงการฯ ต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างทีมงาน เพื่อเป็นกลไกในการดำเนินงานบนศักยภาพของวัดซึ่งเป็นที่นับถือของคนในชุมชน โดยทีมงานประกอบด้วยทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน เพื่อร่วมกันสร้างสุขให้ขุมชนตามบทบาทภารกิจ แบะภาครัฐ โดยผู้นำชุมชนจะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุน เชื่อมโยงและร่วมสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกับวัดซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการ ในการทำกิจกรรมสร้างสุขร่วมกันระหว่าง วัด และ คนในชุมชน เพื่อทำให้วัดเกิดความมั่นคง และชุมชนมีความเข้มแข็ง

“ผู้นำ” เป็นหลักสำคัญในการขับเคลื่อน ต้อง “รู้ เห็น เข้าใจ” โดยการเรียนรู้จากต้นแบบที่ปสบความสำเร็จ เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ประกอบกับความเชื่อมั่นในผู้นำสู่ชุมชน ทำให้คนในชุมชนเห็นตามและร่วมกันสร้างสุขในชุมชนนั้นร่วมกัน...ทำอย่างไรให้กิจกรรม “โครงการ วัด ประชา รัฐ สร้างสุข” เกิดความยั่งยืน

อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “ก่อนทำให้เกิดความยั่งยืน จะต้องทำให้สำเร็จก่อน ด้วยเหตุผลที่คนไทยยังพึ่งพิงวัดอยู่เสมอ เมื่อวัดสวยงามน่าเข้า คนก็จะเข้ามาในวัด วัดจึงเป็นที่พึ่ง ข่ม สอน ให้คนเกิดจิตปัญญาด้วยกิจกรรมต่างๆ และกิจกรรมต่างๆ ต้องอาศัย “ผู้นำ” ให้เป็นผู้เชื่อมโยงระหว่าง วัดและประชาชน ในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เพื่อทำให้วัดมีความมั่นคง และทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งด้วยนั่นเอง

ส่วน นายวิรัช จำปานิล ปรธานจิตอาสาอำเภอพุทธมณฑล ผู้แทนภาคประชาชน กล่าวว่า ในส่วนของภาคประชาชนกับการส่งเสริมกิจกรรมโครงการ วัด ประชา รัฐ สร้างสุข ด้วยคนในชุมชนมีวัดเป็นที่พึ่งในการดำรงชีวิตเป็นพื้นฐาน ดังนั้นการทำตนเป็นจิตอาสาเพื่อพัฒนาวัด ดูแลวัด ตลอดจนพัฒนาและปรับปรุงวัด คนในชุมชนพร้อมเป็นเรี่ยวแรงสำคัญให้กับทุกๆ กิจกรรม โดยพร้อมมีส่วนร่วมกับหลายๆ ภาคส่วนเพื่อสร้างสุขให้ชุมชน วัดจะพัฒนาขึ้นได้ ต้องอาศัย “ผู้นำ” ในการฟื้นฟูสถาบันอันยิ่งใหญ่ของชุมชน ซึ่งหมายถึง “วัด” เพื่อเป็นหลักในการบ่มเพาะจิตใจให้กับประชาชน โครงการ วัด ประชา รัฐ สร้างสุข จะเป็นแนวทางสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ก่อให้เกิด “ชุมชนแห่งความสุข” ที่ยั่งยืนต่อไป

หลังจากการเสวนา ผู้ร่วมงานจำนวน กว่า 1,000คน ได้ร่วมกันสวดมนต์ บทธรรมจักรกัปวัตนสูตร ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสต่อพระอรหันต์จำนวน 1,250 รูป เพื่อความเป็นศิริมงคลด้วย

ข่าวเด่น

ข่าวทั่วไทย

ข่าวที่น่าสนใจ