THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

01 มิถุนายน 2563 : 17:35 น.

ที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณาพรก.กู้เงิน 3 ฉบับ “ส.ว.อภิชาติ โตดิลกเวชช์ ” ชูโมเดล “1 ครัวเรือน 1 สัญญา” แก้หนี้ชาวบ้าน เผยกรมพัฒนาชุมชนทำสำเร็จมาแล้วช่วย 924 หมู่บ้านลดหนี้ได้ถึง 726 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ประชุมวุฒิสภามีการพิจารณาพรก.กู้เงิน 3 ฉบับ ที่เกี่ยวกับการแก้ไขและเยียวยาสถานการณ์โควิด-19 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท โดยนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ชี้แจงหลักการ และวัตถุประสงค์ของการออกพรก.กู้เงินเพื่อรับมือป้องกันและเยียวยาการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยยืนยันว่า รัฐบาลได้กำหนดหลักการให้สอดคล้องกับวินัยการเงินการคลังและให้การใช้จ่ายเงินสอดคล้องกับสถานการที่เกิดขึ้น โดยมีคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการก่อนเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติพรก.ทั้ง 3 ฉบับ ทำให้รัฐบาลมีทรัพยาการในการแก้ไขปัญหา ประชาชนมีสภาคล่องมากขึ้นบรรเทาภาระหนี้ให้ภาคธุรกิจเพื่อจะไม่กระทบธุรกิจเป็นลูกโซ่

นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ สมาชิกวุฒิสภา และรองประธานคณะอนุกรรมาธิการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ วุฒิสภา อภิปรายว่า พรก.ฉบับกู้เงินเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด-19 วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาทนั้น ในฐานะที่เป็นอดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และทำงานกระทรวงมหาดไทยอยู่ในพื้นที่ภูมิภาคและชุมชนมากกว่า 30 ปี ได้เห็นปัญหาสำคัญที่สุดในการแก้จนและลดเหลื่อมล้ำที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขจริงจังและถูกจุด 2 เรื่อง คือ เรื่องหนี้ และเรื่องน้ำ

สำหรับ เรื่องหนี้อมูลพบว่ามีอยู่ในระบบสถาบันการเงินต่างๆ รวมถึงสหกรณ์ขอเรียกว่า “คนตัวโต” ซึ่ง ธปท.บอกว่ามีหนี้มากถึง 79.8 % ของ GDP คิดเป็นเงิน 13.4 ล้านๆบาท เรื่องนี้รัฐบาลมีข้อมูลครบถ้วนและอยู่ในกระบวนการที่กำลังแก้ไขและช่วยเหลือ โดยผ่านกลไก ธกส. ออมสิน และ อาคารสงเคราะห์ รวมถึง พรก.เงินกู้ฉบับที่ช่วย SME วงเงิน 5 แสนล้าน และฉบับที่ช่วยพยุงตราสารหนี้และหุ้นกู้ในตลาดหลักทรัพย์ถึง 4 แสนล้าน

อีกส่วนคือสถาบันการเงินภาคประชาชน ขอเรียกวา “คนตัวเล็ก” คือ กองทุนที่มีอยู่ในหมู่บ้านทั้งของรัฐ และของประชาชนเอง ชาวบ้านพึ่งพากองทุนชุมชนเหล่านี้ แต่ข้อมูลหาได้ยากมาก ทำให้ปัญหาไปไม่ถึงรัฐบาล ทำให้มาตรการการช่วยเหลือด้านต่างๆไปถึงชาวบ้านยังน้อยมาก ซึ่งหากดูข้อมูลแต่ละหมู่บ้านจะพบมีกองทุนชุมชนน้อยสุด 9 กองทุน และมากสุดถึง 31 กองทุน ซึ่งข้อมูลที่หาได้จาก 5 กองทุน มีสมาชิกถึง 40.1 ล้านคน มีวงเงินที่ปล่อยกู้ได้มากถึง 2.3 แสนล้านบาท

นายอภิชาติ อภิปรายว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่รอการแก้ไขของสถาบันการเงินภาคประชาชนในชนบท “คนตัวเล็ก” คือการกู้ของชาวบ้าน กู้กองทุนชุมชนหลายที่เป็นหนี้หลายทาง 1 คน กู้ 3 – 4 กองทุน การจ่ายหนี้เป็นการผลักภาระไปข้างหน้า เพราะระบบการผลิตของเกษตรกรเป็นรอบๆ 3 – 4 เดือน แต่ต้องส่งต้นและดอกเป็นรายเดือนในบางกองทุน ซึ่งเดิมชาวบ้านพอประคองสถานการณ์ได้แต่พอเกิดภัยแล้งและเจอปัญหาโควิด-19 ทำให้ชาวบ้านเริ่มติดขัด ไม่มีเงินส่งทั้งต้นและดอก

สำหรับ แนวทางแก้ปัญหานี้ กรมการพัฒนาชุมชนเคยแก้มาแล้วในปี 2560 – 2562 ใน 924 หมู่บ้าน ซึ่งสามารถปลดและลดหนี้ได้ถึง 726 ล้านบาท โดยวิธีการ คือ ปกติแต่ละกองทุนชุมชนจะบริหารกันเอง มีสมาชิก และคณะกรรมการบริหารเป็นเอกเทศ โดยได้สร้างกลไกที่เรียกว่าศูนย์บริหารจัดการทุนชุมชน เอาประชาชนแต่ละกองทุนมาเป็นกรรมการศูนย์ เอาข้อมูลหนี้มาดูร่วมกัน เจรจาลูกหนี้ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ จากเป็นหนี้หลายกองทุนหลายสัญญา ปรับเป็น 1 ครัวเรือน 1 สัญญา โดยให้ไปอยู่กองทุนใดกองทุนหนึ่งที่มีความพร้อม ทำให้ชาวบ้านแทนที่เป็นหนี้ 3 กองทุนส่งเงินเดือนละ 3,000 บาท ก็ปรับมาส่งเพียง 1 กองทุน 800 บาท เท่านั้น

"จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล โดยขยายผลสำเร็จของการปรับโครงสร้างหนี้ 1 ครัวเรือน 1 สัญญา ที่กรมการพัฒนาชุมชนดำเนินการมา 924 แห่ง (ตามหน่วยอำเภอ) เป็น 75,032 แห่งตามหน่วยหมู่บ้าน ซึ่งหากใครพร้อมทำก่อนก็ช่วยชาวบ้านได้แล้ว จากนั้นรัฐบาลอาจช่วยเติมเงินเข้าไปที่กองทุนหมู่บ้าน หรือกองทุนของรัฐอื่นๆ เพื่อให้สามารถเป็นเจ้าภาพรวมหนี้ให้มาอยู่ที่เดียว จะช่วยประชาชนได้มากและเร็วขึ้น เป็นการรักษาต่อลมหายใจของสถาบันการเงินภาคประชาชนที่อยู่ในหมู่บ้านด้วย"นายอภิชาติกล่าว

ส่วนเรื่องน้ำ เราแก้ไขปัญหาการขาดน้ำการเกษตรมากว่า 60 ปี สร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ตามแนวทางของธนาคารโลกที่มาแนะนำเราในแผนสภาพัฒน์ฉบับที่ 1 ปี 2505 ผลทว่าผ่านมากว่า 60 ปี เราสร้างพื้นที่ชลประทานได้เพียง 22 % ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด ยังมีพื้นที่อีก 78 % หรือ 101.6 ล้าน ไร่ ที่ทำการเกษตรได้เพียงฤดูฝนเกษตรกรส่วนใหญ่ทำการเกษตรเพียง 4 – 5 เดือน อีก 7 -8 เดือน ต้องอพยพเข้ามาทำงานในเมืองแทน

นายอภิชาติ อภิปรายว่า ทางออกของการแก้ไขปัญหา เราทำน้ำขนาดใหญ่มานานแล้ว ต้องปรับแนวทางมาทำน้ำขนาดเล็ก ที่ชาวบ้านได้ประโยชน์ สามารถบริหารจัดการ และบำรุงดูแลรักษาได้ และรัฐบาลมีเงินเพียงพอที่จะทำ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ป่าต้นน้ำ ถือว่าสำคัญมากเพราะมีปริมาณน้ำเกิน 4 เท่าของเขื่อนภูมิพล ป่าต้นน้ำในไทยมี 85 ล้านไร่ งานวิจัยป่า 1 ไร่ เก็บน้ำไว้ได้ถึง 687.84 ลบ/ม. คูณด้วย 85 ล้านไร่ เราจึงเก็บกักน้ำได้ถึง 58,466 ล้าน ลบ/ม. การเก็บกักน้ำทำได้ด้วยทำฝายชะลอน้ำ หรือฝายแม้ว เป็นฝายชั่วคราวอายุสั้น 3 ปี ต้องเริ่มทำใหม่เป็นกึ่งถาวร ให้ กรมอุทยาน ป่าไม้ จ้างแรงงานชาวบ้านทำฝายแม้วใช้งบ 1,000 ล้าน ได้ฝายถึง 1 แสนตัว ถ้าทำเสร็จเร็วจังหวัดภาคเหนือปัญหาไฟป่าและหมอกควันจะลดลงทันที 2.พื้นที่นอกเขตชลประทาน ที่ขาดน้ำในฤดูแล้งมากถึง 101 ล้านไร่ ให้ทำฝายลุ่มน้ำสาขา ซึ่งมีอยู่ 60 ลุ่มน้ำสาขา ทำฝายซีเมนต์ซอย ทั้งลุ่มน้ำเป็นช่วงๆระยะทุก 1 กม. เราก็จะได้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จุน้ำได้ทั้งลำน้ำตลอดฤดูแล้งทันที

ข่าวเด่น

ข่าวทั่วไทย

ข่าวที่น่าสนใจ