THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

26 มิถุนายน 2563 : 14:42 น.

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ลงพื้นที่ชุมชนโค้งรถไฟยมราช ช่วยเด็กด้อยโอกาสก่อนเปิดเทอมยุคโควิด-19เสี่ยงหลุดระบบการศึกษา ตั้งเป้าในกทม.ไม่ต่ำกว่า1,000คน

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 ที่ชุมชนโค้งรถไฟยมราช ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เดินทางไปช่วยเด็กด้อยโอกาสเตรียมความพร้อมทั้งด้านการเรียนรู้ การป้องกันสุขภาพจากโรคโควิด-19 ก่อนเปิดเทอมวันที่ 1ก.ค.63 และสนับสนุนชุดอุปกรณ์การเรียนให้เด็กกลุ่มเปราะบางในชุมชน ตามโครงการ “กู้วิกฤตส่งเด็กกลุ่มเปราะบางกลับโรงเรียน

ทั้งนี้ จากการสำรวจพบเด็กกลุ่มเสี่ยงและเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาช่วงเดือนเปิดเทอม ระดับประถมศึกษา1,796 บาท มัธยมต้น 3,001 บาท มัธยมศึกษาตอนปลาย3,738 บาท ขณะที่มีรายได้ครอบคครัวเฉลี่ยประมาณ 2,020 บาทต่อเดือน เท่ากับว่าค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมเกือบทั้งหมด หรือมากกว่ารายได้ทั้งเดือนกรณีบุตรหลานศึกษา กสศ.จะรักษาเด็กกลุ่มนี้ให้อยู่ในระบบการศึกษา สร้างทักษะส่งเสริมการประกอบอาชีพและการใช้ชีวิต ลดจำนวนเด็กที่ต้องทำอาชีพบนท้องถนนเบื้องต้นในพื้นที่กทม.ตั้งเป้าช่วยได้ไม่ต่ำกว่า1,000 คน

นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน หัวหน้าโครงการพัฒนาระบบสนับสนุนดูแลเด็กนอกระบบการศึกษาและเด็กบนท้องถนนในกรุงเทพมหานคร และศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวว่า หลังโควิด-19 เห็นได้ชัดเจนจากการลงพื้นที่ในกทม.ช่วง1-2 เดือนที่ผ่านมา พบว่าครอบครัวของเด็กเหล่านี้มีรายได้ลดลง บางครอบครัวไม่มีรายได้ ยิ่งตอกย้ำว่าเด็กมีความเสี่ยงหลุดนอกระบบมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีเรื่องต้นทุนอื่นๆที่สูงเช่นกัน และสภาพเด็กเมื่ออยู่ในวัยแรงงานก็ต้องเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ดังนั้นแนวทางการช่วยเหลือไม่ใช่การเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเพิ่มช่องทางอาชีพและการเรียนที่ยืดหยุ่นเพื่อช่วยเหลือเด็กกลุ่มเปราะบางมากกว่า 1,000 คน ซึ่งเด็กหลายคนมีผลการเรียนดี แต่ครอบครัวมีปัญหาจึงไม่สามารถไปต่อได้

นางสาวทองพูล บัวศรี หรือ ครูจิ๋ว ผู้จัดการโครงการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก กล่าวว่า ชุมชนโค้งรถไฟยมราชมีเด็กรวมทั้งสิ้น 200 กว่าคน แต่มีเด็กกลุ่มเปราะบางที่อยู่ในการดูแล67คน เมื่อเกิดโควิด-19 เด็กออกไปทำงานไม่ได้ รายได้ขาด ทำให้ได้รับผลกระทบหลายด้านและปัญหาความเสี่ยงที่จะหลุดออกนอกระบบการศึกษาเพราะไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์การเรียน ซื้อเสื้อผ้า บางครอบครัวก็ไม่อยากให้เด็กได้เรียน เพราะอยากให้ทำงานชดเชยช่วงที่ขาดรายได้ อย่างน้อยต้องทำให้เด็กกลุ่มเปราะบางมีโอกาสได้รับการศึกษาจนจบ ม.3 ตามพื้นฐาน

ข่าวเด่น

ข่าวทั่วไทย

ข่าวที่น่าสนใจ