THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

18 ธันวาคม 2563 : 12:32 น.

กสศ.เปิดตัวระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ เครื่องมือช่วยรัฐวางแผนลงทุนการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ ลดเหลื่อมล้ำได้จริง

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดตัวระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติหรือ NEA ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้โครงการวิจัยพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ (National Education Accounts: NEA)

รศ.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยฯ เปิดเผยว่า สูตรการจัดสรรงบประมาณปัจจุบัน ไม่ได้ทำให้คุณภาพใกล้เคียงกัน แต่กลับถ่างขึ้น  ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กโดยเฉพาะที่ควบรวมไม่ได้เสียเปรียบ ไม่สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ทั้งที่โรงเรียนขนาดเล็กต้องดูแลเด็กเปราะบางมากกว่า มีปัญหาในหลายมิติ แต่งบประมาณไม่ได้ปรับตัวตาม คุณภาพการศึกษาแย่ลงเรื่อยๆข้อเสนอที่เป็นไปได้มากที่สุดขณะนี้คือ การปรับสูตรงบประมาณรายหัว ให้เน้นความจำเป็นของนักเรียน และความแตกต่างของพื้นที่ซึ่งมีค่าครองชีพไม่เท่ากัน รวมทั้งต้องสอดคล้องกับขนาดโรงเรียนด้วย

ทั้งนี้ เช่นเดียวกับการจัดสรรทรัพยากรเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ พบว่างบประมาณรายจ่ายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีแนวโน้มลดลง โดยในปีงบประมาณ 2561 มีมูลค่ารวม 18,683 ล้านบาท ลดจากปี 2559 ที่มีจำนวน 28,000 ล้านบาท ซึ่งสัดส่วนงบประมาณในด้านนี้ยังถือว่าไม่มากนัก ดังนั้นจึงควรมีการจัดสรรงบประมาณอย่างทั่วถึงและให้กลุ่มเด็กยากจนด้อยโอกาสได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม

ดร.ภูมิศรัณย์  ทองเลี่ยมนาค  ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์การศึกษา กสศ. กล่าวว่า จากข้อมูลของ NEA มีประโยชน์มากที่จะช่วยนำไปสู่ข้อเสนอต่างๆ ด้วยข้อมูลที่เป็นรูปธรรม แต่นอกจากงบประมาณแล้วก็ยังมีมิติอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่นการบริหารจัดการ โดยจากข้อมูลพบว่าประเทศไทยมีการกระจายอำนาจในการบริหารงบประมาณของท้องถิ่นกับส่วนกลางแตกต่างกันมาก โดยงบท้องถิ่นมีเพียงแค่ 16%  ขณะที่หลายประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาอย่างฟินแลนด์ อเมริกา มีสูงถึง 40% ซึ่งการกระจายงบไปท้องถิ่นที่ดีจะช่วยให้การบริหารมีประสิทธิภาพ และแก้ไขปัญหาในท้องถิ่น ของตัวเองได้ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม นอกจากไทยจะมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแล้ว การกระจายตัวของทรัพยากรน้อยมาก อยู่กลุ่มเดียวกับละตินอเมริกา ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม สิงคโปร์ หรือประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่มีการกระจายตัวของทรัพยากรการศึกษาที่ดี ทำให้ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะประเทศฟินแลนด์โรงเรียนใกล้บ้านก็มีคุณภาพไม่ต่างกันไม่จำเป็นต้องส่งลูกไปเรียนไกล ดังนั้นเราจะต้องทำให้เกิดการกระจายทรัพยากร กระจายอำนาจที่เพิ่มมากขึ้น ด้าน

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า การจัดทำบัญชีรายจ่ายการศึกษาจะช่วยให้ทราบว่ามีการจัดสรรงบประมาณไปในกิจกรรมใดบ้าง จังหวัดใดได้มากหรือได้น้อย และเข้าถึงกลุ่มประชากรใดบ้าง เพื่อให้เกิดการทบทวนการจัดสรรทรัพยากรได้อย่างเสมอภาคมากขึ้น การพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาจะช่วยให้หน่วยงานต่างๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนทิศทางการลงทุนด้านการศึกษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีความเสมอภาคมากขึ้น โดยล่าสุดได้มีการจัดทำในระบบออนไลน์และลงลึกในรายละเอียดถึงระดับจังหวัด ผู้สนใจสามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ https://research.eef.or.th/nea/ เพื่อดูข้อมูลรายจ่ายด้านการศึกษาย้อนหลังได้

ข่าวเด่น

ข่าวทั่วไทย

ข่าวที่น่าสนใจ