THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

10 กุมภาพันธ์ 2564 : 20:27 น.

พรรคฝ่ายค้านรุมถล่มยับ"ไพบูลย์ นิติตะวัน"ทำตัวเป็นปรปักษ์ต่อระบบรัฐสภาและประชาธิปไตย ยื่นให้ศาลพิจารณาญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่เคยมีมาก่อน จี้ประธานรัฐสภาไม่ส่งศาลวินิจฉัย

เมื่อวันที่ 10 ก.พ. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรพร้อมด้วยตัวแทนพรรคฝ่ายค้าน ได้ร่วมแถลงว่า ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ได้ผ่านการวินิจฉัยจากประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้วเรียบร้อย โดยได้บรรจุในวาระ และส่งไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อตรวจสอบความพร้อมในการมารับฟังการอภิปรายฯ ถือว่าถูกต้องสมบูรณ์ ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน แต่การที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐและพวกจะนำเรื่องนี้กลับมาทบทวนใหม่ ไม่เข้าใจว่า นายไพบูลย์มีความคิดอย่างไร แต่ตนกำลังคิดว่า คงจะเป็นการสมคบคิดกันที่จะทำลายระบอบประชาธิปไตยมากกว่า และคงเป็นห่วงหรือจะมีการหนีการตรวจสอบตามกลไกของสภาฯ ที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ การเกิดการแตกแยกภายในของพรรคร่วมรัฐบาล ตนคิดว่าพรรคร่วมรัฐบาลเองก็ไม่ได้มีความเห็นอย่างนี้เช่นเดียวกัน

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ญัตติการขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่จะมีขึ้นในวันที่ 16-19 ก.พ.นี้ เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาฯที่ 76 การที่ประธานสภาฯได้บรรจุเรื่องนี้เข้าไปในระเบียบวาระแล้ว ย่อมแสดงให้เห็นว่า ญัตติมีความถูกต้อง ไม่มีข้อบกพร่องใดๆ ทั้งสิ้น และได้แจ้งให้นายกรัฐมนตรีรับทราบแล้วเช่นกัน การที่นายไพบูลย์ได้ยกรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) มาอ้างว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญมากล่าวอ้างนั้น ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวระบุว่า ให้ศาลฯ แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาฯ แต่ในกรณีนี้สภาฯ ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด ที่ศาลฯ จะต้องมาพิจารณาวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว ขณะเดียวกันประธานสภาฯ ก็ได้เรียกวิปทุกฝ่ายมาหารือแล้ว ทั้งเรื่องจำนวนวัน เวลาในการอภิปราย

“ยังไม่เคยมีในระบบประเพณีของรัฐสภามาก่อน ที่ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจจะถูกยื่นตีความโดยศาลฯ การกระทำดังกล่าวเป็นการทำลายระบอบรัฐสภา ทำลายระบอบประชาธิปไตย หากสภาฯ ยังเดินหน้าเห็นชอบในญัตติของนายไพบูลย์แบบพวกมากลากไป โดยไม่มีเหตุผล ต่อไปสภาฯ จะเดินหน้าลำบาก ต่อไปการร่วมมือต่างๆ ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลกับฝ่ายค้านคงเกิดขึ้นยาก เพราะเรื่องที่ไม่ควรเกิดก็เกิดขึ้นมา” นายประเสริฐ กล่าว

ขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ขอยืนยันกับพี่น้องประชาชนว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้จะไม่ถูกเลื่อนออกไป ฝากไปถึงรัฐบาลว่าอย่าวิตกกังวลมากจนเกินไปว่า ไม่สามารถตอบคำถามของฝ่ายค้านได้ ก็จะใช้วิธีนอกระบบในการหนีการตรวจสอบจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากประชาชนได้อ่านรายละเอียดในญัตติของนายไพบูลย์แล้ว จะเห็นว่าเป็นการตอกย้ำญัตติของเราในการนำสถาบันฯมาเป็นโล่คอยกลบเกลื่อนความผิดของตัวเอง ยืนยันว่าพรรคก้าวไกลจะอภิปรายรัฐบาล อภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และข้อบังคับสภาฯ ได้ระบุไว้แล้วว่า พูดถึงสถาบันฯ โดยจำเป็น ประธานสภาฯก็อยู่ในพื้นที่ อย่าอนุมาน หรือวิตกเกินไปเอง แล้วใช้วิธีนอกระบบ มาลดทอนอำนาจนิติบัญญัติให้ตุลาการมามีอำนาจเหนือ

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า ญัตตินี้สมบูรณ์ตามขั้นตอน กำลังจะมีการอภิปรายแล้ว การสะดุดลงคงไม่ได้เกิด แต่จะทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลง ขณะนี้มีส.ส.หลายคนไม่สบายใจกับพฤติกรรมของนายไพบูลย์ หลายคนกำลังตรวจสอบว่าเข้าข่ายผิดจริยธรรมขั้นร้ายแรงหรือไม่ เป็นปรปักษ์ต่อระบบรัฐสภาเองหรือไม่ เนื่องจากการยื่นต่อศาลฯ ตีความในเรื่องดังกล่าว เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสภาฯ ต่อไปนี้หลักการถ่วงดุลอำนาจคงใช้ไม่ได้แล้ว ดังนั้นนายไพบูลย์เองทำตัวเป็นปรปักษ์ต่อระบบรัฐสภา และระบอบประชาธิปไตย เชื่อว่าเรื่องนี้จะมีการเคลื่อนไหวต่อเนื่องแน่นอน

“สิ่งที่ต้องขอร้องผ่านไปยังรัฐบาลคือ ถึงจะใช้เสียงข้างมาก ก็ไม่สามารถจะหยุดยั้งพวกเราได้ เราเตรียมมาตรการไว้เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบต่อไป วันนี้เราเชื่อว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นแน่นอน แต่ถ้าเกิดมีอะไรเหนือความคาดหมาย การอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภาก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง เมื่อเสียงข้างมากมาอยู่เหนือเราที่เป็นเสียงข้างน้อย ก็ต้องขออนุญาตสังคมว่า พวกเราเสียงข้างน้อยจะใช้วิธีการทุกรูปแบบภายใต้กฎหมายออกมาใช้เพื่อยับยั้งเผด็จการรัฐสภา” นายสุทิน กล่าว

ด้าน นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเคยเป็นอดีตเป็นประธานรัฐสภา หากตนเป็นประธานรัฐสภา จะไม่ส่งศาลฯวินิจฉัย เนื่องจากเป็นอำนาจของประธานสภาตามข้อบังคับ และรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ที่จะบรรจุวาระการประชุม เมื่อประธานบรรจุไปแล้ว ก็ไม่มีข้อสงสัยที่จะนำไปสู่การยับยั้งการพิจารณาระเบียบวาระ และหากส่งศาลก็จะเป็นการย้อนแย้งในคำวินิจฉัยของประธานสภา หากนายไพบูลย์ จะเสนอญัตติด้วยวาจา เกรงจะเป็นการเสียเวลาเปล่า และตนเชื่อว่านายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ จะใช้ดุลยพินิจ และไม่ส่งศาลฯ ตีความ ประชาชนต้องไม่หวั่นไหว ว่าการอภิปรายจะไม่เกิดขึ้น หรือหากส่งไปยังศาล รธน. วินิจฉัย ตนเชื่อด้วยความเคารพว่า ศาลจะรู้เรื่องอำนาจหน้าที่ ในการบรรจุวาระการประชุม ขอย้ำว่าญัตติของฝ่ายค้าน เป็นการป้องกันสถาบัน

ข่าวเด่น

ข่าวทั่วไทย

ข่าวที่น่าสนใจ