THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

12 กรกฎาคม 2564 : 16:16 น.

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยพบผู้ป่วยโควิด 7 รายติดเชื้อลูกผสมระหว่างสายพันธุ์"อัลฟา-เดลตา" ขณะที่กทม.เจอสายพันธุ์เดลตาเพิ่มขึ้น 57.1% รองลงมาคือสายพันธุ์อัลฟา 42.9%

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงถึงโควิดสายพันธุ์ต่างๆ ที่กำลังระบาดในประเทศไทย ว่า ตั้งแต่ช่วงระลอกการระบาดเมษายนเป็นต้นมา ตรวจรหัสพันธุกรรมไปแล้วประมาณ 15,000 ราย ยอดสะสมยังเป็นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) 74% สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) 24% สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) 1.7% หากดูภาพรวมช่วงวันที่ 3-9 กรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่า สายพันธุ์อัลฟา 51.8% สายพันธุ์เดลตาเพิ่มขึ้นเป็น 46.1% และสายพันธุ์เบตา 2.1% แต่หากเแบ่งเป็นเฉพาะกทม.พบว่าสายพันธุ์เดลตามีมากขึ้น 57.1% รองลงมาคือสายพันธุ์อัลฟา 42.9% สำหรับ ภูมิภาคยังคงพบสายพันธุ์อัลฟามากกว่าสายพันธุ์เดลตา จึงจำเป็นต้องมีการปรับแนวทางการฉีดวัคซีนให้สอดคล้องกับสถานการณ์กลายพันธุ์ เพราะแนวโน้มสายพันธุ์เดลตานั้นมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับ สายพันธุ์เดลตาพบแล้วในกทม.และอีก 60 จังหวัด เป็นที่น่าสังเกตว่า ลงไปภาคใต้ด้วย เช่น สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต นราธิวาส สงขลา ตรัง พัทลุง และ สตูล ส่วนจังหวัดอื่นๆ ที่พบค่อนข้างมาในสัปดาห์นี้คือ อุดรธานี นครสวรรค์ ชลบุรี กำแพงเพชร เป็นต้น พร้อมคาดการณ์ว่าอีกไม่นานก็คงจะกินพื้นที่ของสายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทั้งหมด ขณะที่สายพันธุ์เบตา ส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาคใต้

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ที่น่าแปลกใจคือพบผู้ป่วย 1 ราย ที่จ.บึงกาฬ ยืนยันด้วยการตรวจยีนทุกตัว หรือโฮล จีโนม (Whole genome) แล้ว เป็นแรงงานที่เดินทางกลับมาจากไต้หวัน กักตัวใน State Quarantine 14 วัน ตรวจหลายครั้งไม่พบเชื้อโควิด แต่หลังกลับบ้านไปมีอาการป่วย ตอนภายหลังพบว่าติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เบตา จึงถอดรหัสพันธุกรรมไปเทียบกับของภาคใต้และไต้หวัน ปรากฏว่าไม่ได้มาจากทั้ง 2 แหล่ง จึงแจ้งกรมควบคุมโรคแล้วว่าต้องไปสอบสวนคนใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายนี้ และทั้งหมดอยู่ระหว่างการตรวจ สำหรับสายพันธุ์เบตานั้นแพร่ไม่เร็ว ยังกระจุกอยู่ในโซนภาคใต้เป็นส่วนใหญ่

“วันนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจ คือในแคมป์คนงานก่อสร้างขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในกทม. ปรากฏว่าพบมีการติดเชื้อ Mix infection คือเป็นการติดเชื้อผสม นั่นหมายความว่าในตัวคนๆ เดียวมีทั้ง 2 สายพันธุ์ (อัลฟาและเดลตา) ซึ่งมีอยู่ประมาณ 7 ราย จากทั้งหมด 200 กว่าราย เป็นสัญญาณว่าถ้าเราปล่อยให้มี Mix infection แบบนี้บ่อยๆ เยอะๆ ก็อาจจะเกิดลูกผสมที่เราเรียกว่าไฮบริด เกิดเป็น Variant ตัวใหม่ขึ้นมาได้ เราก็ไม่อยากให้มันเกิด" นพ.ศุภกิจกล่าว

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลเซมิล็อกดาวน์ (Semi-Lockdown) ขอความร่วมมือให้ทุกคนหยุดเดินทางและเข้มงวดกับมาตรการต่างๆ เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพื่อจะลดโอกาสของการที่จะทำให้ Mix infection เกิดขึ้นบ่อย ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเดียว ประเทศอื่นๆ ในโลกนี้ก็มี และทั้ง 7 ราย ขณะนี้ที่เราดูอาการก็ยังสบายดี ไม่ได้มีปัญหา เพราะฉะนั้นไม่ได้บอกว่า Mix infection ที่ติดผสม 2 ตัวจะทำให้รุนแรงขึ้นแต่อย่างใด ก็คงจะต้องจับตาดูกันต่อไป

ข่าวเด่น

ข่าวทั่วไทย

ข่าวที่น่าสนใจ