THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

03 ธันวาคม 2564 : 16:10 น.

การเคหะแห่งชาติทำ“โครงการรณรงค์การคัดแยกขยะรีไซเคิลเคหะชุมชนดินแดง” ปรับปรุงพื้นที่เสื่อมโทรมพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนในชุมชนกลางกรุง

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ(กคช.) เปิดเผยว่า โครงการเคหะชุมชนดินแดงเป็นชุมชนขนาดใหญ่อยู่ใจกลางกทม.มีประชากรอยู่อาศัยประมาณ 30,000 คน ทำให้ประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาขยะมูลฝอยเนื่องจากเมื่อใช้สูตรคำนวณจากข้อมูลของกรุงเทพมหานคร 1x1.2 กก./คน/วัน ในแต่ละวันจะมีปริมาณขยะมูลฝอยถึง 36 ตัน และในอนาคตปัญหาขยะมูลฝอยมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากกทม.ไม่สามารถนำขยะมูลฝอยไปกำจัดทิ้งได้ 100% ทำให้เกิดขยะตกค้าง สร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษให้กับชุมชนเป็นอย่างมาก จึงได้จัดทำ “โครงการรณรงค์การคัดแยกขยะรีไซเคิลเคหะชุมชนดินแดง” และจัดตั้งธนาคารสัจจะรีไซเคิลเคหะชุมชนดินแดง 1 และธนาคารสัจจะรีไซเคิลเคหะชุมชนดินแดง 2 โดยปัจจุบันธนาคารสัจจะรีไซเคิลเคหะชุมชนดินแดง 1 มีสมาชิก 86 คน ขณะที่ธนาคารสัจจะรีไซเคิลเคหะชุมชนดินแดง 2 มีสมาชิก 171 คน มีเงินสะสมแต่ละแห่งกว่า 1 แสนบาท

“โครงการรณรงค์การคัดแยกขยะรีไซเคิลเคหะชุมชนดินแดง เป็นหนึ่งในตัวอย่างสำคัญของมิติใหม่ในการดำเนินงานของการเคหะแห่งชาติ ที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง หากแต่ยังตระหนักถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยที่ครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาวะซึ่งเป็นแนวทางที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เน้นย้ำมาโดยตลอด” นายทวีพงษ์กล่าว

ด้าน นายสุพจน์ เกษรบัว ประธานธนาคารสัจจะรีไซเคิลเคหะชุมชนดินแดง 1 กล่าวถึงการก่อตั้งธนาคารฯ ว่า เริ่มจากความร่วมมือของผู้อยู่อาศัยในชุมชน เนื่องจากปริมาณขยะมีจำนวนมาก และการเคหะแห่งชาติได้สนับสนุนให้คนในชุมชนไปศึกษาดูงานที่โครงการบ้านเอื้ออาทรจังหวัดระยอง (วังหว้า) เพื่อให้สมาชิกในชุมชนเรียนรู้และเข้าใจการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ และแนวทางการนำขยะมาฝากธนาคารแล้วกลายเป็นเงินออม จากนั้นจึงมีการจัดตั้ง “คณะกรรมการธนาคารสัจจะรีไซเคิลเคหะชุมชนดินแดง 1” เมื่อประมาณ2 ปีที่ผ่านมา

สำหรับ ขั้นตอนการเข้ามาเป็นสมาชิก “ธนาคารสัจจะรีไซเคิล” ชาวชุมชนต้องเข้ามาเป็นหุ้นส่วนก่อนโดยมีค่าสมาชิกเริ่มต้นที่ 150 บาท แบ่งเป็น 100 บาท คือทุนในการที่เข้ามาเป็นหุ้นส่วนของธนาคารฯ และอีก 50 บาท แยกเป็นค่าเล่มบัญชี 30 บาท ค่าดำเนินการอีก 20 บาท ทั้งนี้เมื่อชาวชุมชนที่คัดแยกขยะนำมาฝากขาย ทางธนาคารฯ จะรับซื้อในราคา 70% ของราคาท้องตลาด และธนาคารจะนำไปขายเต็มราคา 100% โดยเงินส่วนต่าง 30% จะนำมาไปปันผลปลายปีให้แก่สมาชิก สำหรับเงิน 70% ซึ่งเป็นเงินออมของสมาชิกจะสามารถเบิกจ่ายได้หลังจากฝากไปแล้ว 3 เดือน

ทั้งนี้ ขยะรีไซเคิลที่รับซื้อจะมีทั้งขวดแก้ว ขวดพลาสติก เหล็ก อลูมิเนียม กระดาษ หรือทุกอย่างที่ขายได้ ยกเว้นอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งมีขั้นตอนยุ่งยาก ต้องนำคัดแยกทั้งเหล็ก พลาสติก ทองแดง แต่ขณะนี้ชุมชนยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ ในอนาคตหากผ่านพ้นช่วงการแพร่ระบาดของเชีื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว มีแนวทางที่จะเพิ่มแนวทางการพัฒนาส่วนนี้เพิ่มขึ้น

“ทุกวันนี้ธนาคารสัจจะรีไซเคิลเคหะชุมชนดินแดง 1 มีสมาชิกอยู่กว่าแปดสิบคน มีสมาชิกที่นำขยะรีไซเคิลมาขายอยู่เป็นประจำประมาณสามสิบคน ธนาคารฯ มีเงินสะสมราวห้าหมื่นกว่าบาท แต่ตอนเริ่มต้นมีเงินสะสมเกือบหนึ่งแสนบาท ที่ลดลงเพราะสมาชิกได้เบิกเงินออมนำไปใช้จ่ายจากผลกระทบของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ทุกคนเห็นภาพที่ชัดเจนร่วมกันว่า ธนาคารสัจจะรีไซเคิลสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและยังสามารถสร้างเงินออมในยามจำเป็นให้แก่สมาชิกได้ด้วย ทุกวันนี้จึงมีการจัดกิจกรรม “เยาวชนรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อม” เพิ่มขึ้น เพื่อให้เยาวชนในเคหะชุมชนดินแดง 1 ได้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นสมาชิก และมีความรู้จากการคัดแยกขยะนำมาขายเพื่อเป็นเงินออม สามารถแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองได้ เพราะท้ายที่สุดแล้วอนาคตอยู่ในมือของพวกเขานั่นเอง” ประธานธนาคารสัจจะรีไซเคิลฯ กล่าว

ข่าวเด่น

ข่าวทั่วไทย

ข่าวที่น่าสนใจ