THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

16 ธันวาคม 2564 : 14:13 น.

กสศ.เร่งสร้าง“ห้องเรียนฉุกเฉิน”ฟื้นฟูเด็กกระทบจากโควิด-19

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับเครือข่ายการศึกษา จัดเสวนา “หยุดวงจรเด็กหลุดออกนอกระบบจากวิกฤตโควิด-19 เจาะลึกกระบวนการช่วยเหลือฟื้นฟูจากพื้นที่ต้นแบบ” เพื่อสำรวจสถานการณ์เด็กจากผลกระทบโควิด-19 และระดมสมองจากพื้นที่และองค์กรต้นแบบที่สามารถแก้ปัญหาเด็กหลุดนอกระบบในระยะเร่งด่วน ในการเร่งหาแนวทางในการรับมือป้องกันและแก้ปัญหาเด็กกลุ่มเปราะบาง ในระยะฟื้นฟูหลังการระบาดของโควิด-19 

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันมีเด็กเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากผลกระทบจากโควิด-19 ช่วงสองปีเศษทำให้ครอบครัวคนไทยที่มีรายได้เป็นเงินเดือน ลูกจ้างรายวันทั้งหลาย เกิดสภาพ ‘ตายดิบ’ หรือ ‘ตายครึ่งตัว’มีนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นสูงเป็นสถิติใหม่ถึง 1,244,591 คน หรือคิดเป็น 19.98 % ของนักเรียนทั้งหมด สร้างสถิติสูงสุดจากที่ผ่านมา เปรียบเทียบจากเทอม 1/2563 ที่มีนักเรียนยากจนพิเศษจำนวน 994,428 คน หรือเพิ่มขึ้นจำนวน 250,163 คน   

ทั้งนี้ กสศ.และเครือข่ายภาคีในพื้นที่ ได้รวบรวมสาเหตุการหลุดจากระบบการศึกษาในช่วงที่ผ่านมา พบว่ามาจาก 2 ประเด็นหลักคือ 1. หลุดจากความยากจนฉับพลัน จากสึนามิไวรัสโควิด-19 สองปีสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำกลับมาหนักขึ้น ทั้งคนตกงาน ต้องย้ายถิ่นฐาน ไม่มีรายได้  และ 2. หลุดจากเรียนออนไลน์ ออนแฮนด์ ทำให้เกิดความถดถอยทางการศึกษาไปถึง 50% เด็กป.1-ป.3  อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้คิดเลขไม่ได้ การเรียนรู้จากระบบออนไลน์มีประสิทธิภาพ แค่ 50%  มีความเหลื่อมล้ำในประเด็นอุปกรณ์ไอที  การสำรวจของกสศ. เด็กนักเรียนใน  29 จังหวัด ประสบปัญหาไม่มีไฟฟ้าและอุปกรณ์ถึง 87% เมื่อเรียนไม่ทันเด็กติดศูนย์ ติด ร.  เปิดเทอมไม่มาเรียนหายตัวไปจากระบบการศึกษาแบบเงียบๆ  แม้จะยังมีชื่ออยู่ในระบบก็ตาม 

ศ.ดร.สมพงษ์  กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาช่วยเหลือเด็กคนหนึ่งให้รอดไม่ใช่แค่เรื่องทุนการศึกษาอย่างเดียว ต้องมองให้ครบมิติเพื่อป้องกันไม่ให้หลุดจากระบบซ้ำอีก 1.สุขภาพกายเช่น การเข้าถึงวัคซีน  ภาวะโภชนาการ 2.สุขภาพใจ เด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มมีภาวะความเครียด ซึมเศร้า  มีแรงกดดันความกังวลในช่วงการกลับเข้ามาเรียนอีกครั้ง  3.สังคม ภาวะโดดเดี่ยวไม่มีเพื่อน การทำงานที่เสี่ยงอันตราย หรือถูกเอาเปรียบค่าแรง  4.ด้านการศึกษา ความรู้ที่ถดถอย เรียนไม่ทันเพื่อน

 “ที่น่าเป็นห่วงคือช่วงสามเดือนอันตรายถ้าเด็กหลุดจากระบบการศึกษานานถึงสามเดือนจะเสี่ยงที่พวกเขาจะเข้าสู่วงจรสีเทา ทั้งติดเพื่อน ติดเกม ติดยาเสพติด หรือถ้าเราไม่ทำอะไรแล้วพวกเขาเข้าไปในสถานพินิจ พอออกมาสามเดือนก็มีโอกาสกลับเข้าไปซ้ำได้อีก ตรงนี้เป็นบทเรียนที่เราเริ่มเห็นแล้วว่า สังคมไม่อาจปล่อยให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปแบบลำพังต่างคนต่างทำไม่ได้ แต่ต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเด็กยากจนด้อยโอกาส ช่วยกันซ่อมชีวิต ซ่อมจิตวิญญาณให้เขากลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว 

ข่าวเด่น

ข่าวทั่วไทย

ข่าวที่น่าสนใจ