WORLD NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

14 เมษายน 2563 : 17:52 น.

มาตรการล็อดดาวน์ของอินเดียทำให้มลพิษในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของประเทศลดลงจนอยู่ในระดับดื่มกินได้

ตั้งแต่ที่นายกรัฐมนตรีอินเดียประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ประเทศตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนาในประเทศ โดยมีกำหนดสิ้นสุดวันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งแม้มาตรการล็อกดาวน์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมให้ต้องหยุดกิจกรรมชั่วคราว แต่กลับส่งผลด้านบวกให้กับสิ่งแวดล้อมของอินเดียโดยรวม ซึ่งล่าสุดเกิดขึ้นกับแม่น้ำคงคาอันเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของประเทศ ที่พบว่ามีสภาพกลับมาใสสะอาด ค่ามลพิษทางน้ำดีขึ้นอย่างชัดเจนแทบสามารถดื่มกินได้

ข้อมูลเดือนพฤษภาคม 2019 จากคณะกรรมการควบคุมมลพิษส่วนกลางของอินเดีย ระบุว่าค่ามลพิษในแม่น้ำคงคาสูงจนไม่สามารถใช้อาบหรือดื่มกินได้ จากตัวอย่างของน้ำที่เก็บมาพบว่ามีค่าแบคทีเรียโคลิฟอร์มในน้ำสูงถึง 40,000 MPN ( Mlost probable number) ต่อน้ำ 100 มิลลิลิตร และแบคทีเรียฟีคัลโคลิฟอร์มสูงถึง 22,000 MPN ซึ่งตามค่ามาตรฐานควรจะไม่เกิน 500 MPN ยังนับไม่รวมพิษจากโลหะหนักหลายชนิดที่ปนเปื้อน

จากการเผยของสำนักควบคุมมลพิษรัฐอุตตรประเทศ (UP Pollution Control Board -UPPCB) ระบุว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลใช้มาตรการล็อกดาวน์จนส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมหลายส่วนที่ตั้งอยู่เรียงรายริมแม่น้ำต้องปิดตัวลงชั่วคราว ทำให้ค่ามลพิษในแม่น้ำคงคาบางส่วนดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยมลพิษในน้ำลดลงถึง 1 ใน 5 จากช่วงปกติ ซึ่งเป็นระดับที่ดื่มกินได้ตามค่าประเมินทางวิทยาศาสตร์ แม้ช่วงปกติชาวอินเดียจะดื่มกินและอาบน้ำจากแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์สายนี้อยู่แล้ว แต่น้ำนั้นสกปรกเกินกว่ามาตรฐานทางสาธารณสุข

ไม่เพียงแค่แม่น้ำคงคาเท่านั้น จากการเปิดเผยของ D.P. Mathuria เจ้าหน้าที่ระดับสูง National Mission for Clean Ganga (NMCG) ซึ่งได้รวบรวมตัวอย่างน้ำจากนิวเดลี เมืองที่มีแม่น้ำยมุนาไหลผ่าน และน้ำจากรัฐลุ่มน้ำคงคาทั้งหมดพบว่า มาตรการล็อกดาวเป็นข้อบ่งชี้ที่ทำให้น้ำจากทั้งสองแม่น้ำสะอาดขึ้นอย่างชัดเจน แต่ต้องรอการสรุปรายงานอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

ด้านนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติอินเดีย เมืองพาราณสี (Indian Institute of Technology (BHU) Varanasi) ซึ่งเป็นเมืองที่แม่น้ำคงคาไหลผ่าน กล่าวว่า แม่น้ำคงคากลับมาใสสะอาดได้ด้วยตัวเอง เมื่อยุติทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยหนึ่งในสิบของมลพิษในแม่น้ำคงคา มาจากภาคอุตสาหกรรมและโรงแรมใกล้เคียง แต่จากการล็อกดาวน์เหล่านี้ทำให้คุณภาพน้ำกลับมาดีขึ้นสี่สิบถึงห้าสิบเปอร์เซ็นต์ ประกอบบางพื้นที่มีปริมาณฝนตกสะสมช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้่นและผลักดันน้ำเสียออกไป

นักบวชฮินดูรูปหนึ่งของวัด Har Ki Pauri Ghat ที่เมืองหริทวาระ รัฐอุตตรันชัลซึ่งต้นสายของแม่น้ำ และเป็นหนึ่งในจุดยอดนิยมที่ชาวอินเดียนิยมลงไปอาบแสวงบุญในแม่น้ำ เผยกับสื่อท้องถิ่นว่า นับตั้งมาตรการล็อกดาวน์มีผลบังคับใช้น้ำในแม่น้ำใสขึ้นอย่างชัดเจนจนเริ่มเห็นปลาและสิ่งมีชีวิตในน้ำอีกครั้ง

ประเด็นมลพิษทางน้ำนั้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลอินเดียให้ความสำคัญมานานตั้งแต่ปี 2014 แล้ว ด้วยการทุ่มงบประมาณและออกหลายมาตรการเพื่อหวังจะให้น้ำกลับมาใสสะอาดอีกครั้งแต่ก็ไม่เป็นผล กระทั่งการระบาดของไวรัสจำเป็นต้องยุติทุกกิจกรรมทั้งทางเศรษฐกิจและทางสังคมแม่น้ำก็กลับมาใสสะอาดด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ดี มาตรการล็อกดาวน์หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อคนอินเดียที่ด้อยโอกาสทางสังคมอยู่ไม่น้อย ผู้คนนับล้านคนตกงาน ไร้รายได้ อดอยาก ซึ่งแม้การล็อกดาวน์จะเป็นผลดีโดยรวมต่อการคุมระบาด แต่ไม่ดีต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวอย่างแน่นอน และคงเป็นการยากเช่นกันหากนำเศรษฐกิจไปแลกกับการฟื้นคืนของธรรมชาติ ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ในอนาคตมนุษยจะต้องหาทางออกและอยู่ร่วมกันธรรมชาติโดยไม่ทำร้ายซึ่งกัน

แฟ้มภาพ : AFP

ข่าวเด่น

The 1 Insight เผยกลยุทธ์มัดใจ Silver Spenders วัยเก๋าพร้อมเปย์ ชี้ทางรอดแบรนด์ยุค Complete Aged Society พร้อมเทรนด์เด่น Self-Indulgence & Health Enthusiast

The 1 Insight เผยกลยุทธ์มัดใจ Silver Spenders วัยเก๋าพร้อมเปย์ ชี้ทางรอดแบรนด์ยุค Complete Aged Society พร้อมเทรนด์เด่น Self-Indulgence & Health Enthusiast

LH Bank สนับสนุนสินเชื่อจำนวน 1,950 ล้านบาท ให้แก่กลุ่มบริษัท ที ที เอส พลาสติก

นายฉี ชิง-ฟู่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (LH Bank) (ที่ 3 จากขวา) ร่วมลงนามให้การสนับสนุนสินเชื่อจำนวน 1,950 ล้านบาท แก่กลุ่มบริษัท ที ที เอส พลาสติก

ข่าวที่น่าสนใจ