NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

10 มิถุนายน 2562 : 18:42 น.

.

การนำสายสื่อสารลงใต้ดิน เป็นโครงการใหญ่ที่ผมมุ่งมั่นตั้งใจว่า จะต้องทำให้เกิดขึ้นจริง เพื่อกรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ ภูมิทัศน์สวยงาม และประชาชนมีความปลอดภัยครับ ซึ่งหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อเดือนมกราคม 2562 ให้กทม.เป็นเจ้าภาพดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน เพื่อจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย กทม.ก็ได้ประชุมหารือกับ กสทช. เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งแผนงาน มาตรการต่างๆ และกำหนดที่จะเริ่มขับเคลื่อนโครงการให้เห็นเป็นรูปธรรม หลังจากเสร็จสิ้นงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ครับ

สำหรับแผนงานที่วางไว้นั้น กทม.จะดำเนินการขุดวางท่อร้อยสายและติดตั้งโครงข่ายฯ บนถนนสายหลัก สายรอง รวมถึงเส้นทางลัด และเส้นทางในซอยที่มีการพาดสายทั่วกรุงเทพฯ รวมระยะทางสองฝั่งทางเท้าประมาณ 2,450 กิโลเมตรครับ ซึ่งการวางท่อร้อยสายนำสายสื่อสารลงใต้ดินจะใช้พื้นที่บนทางเท้า ความกว้างไม่เกิน 40 ซม. ลึกประมาณ 80 ซม. โดยไม่กระทบผิวจราจร แตกต่างการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ที่จะต้องขุดบนผิวจราจรที่ความลึกประมาณ 4 เมตร ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการสัญจร

ขณะนี้ กำลังดำเนินการสำรวจสภาพพื้นที่เบื้องต้น พร้อมทั้งขอข้อมูลจากหน่วยงานสาธารณูปโภค เพื่อทราบตำแหน่งของท่อสาธารณูปโภคใต้ดินเดิมที่มีอยู่ นอกจากนี้ก็จะมีการสำรวจสาธารณูปโภคเพิ่มเติมโดยใช้ระบบเรดาร์บนบาทวิถีที่ระดับความลึก 8 เมตร รวมถึงสำรวจโครงสร้างใต้ดินของอาคาร ห้างร้าน คอนโดมิเนียม จากนั้นจะออกแบบและวางแผนการขุดเจาะวางท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดินด้วยเทคโนโลยีไมโครดักท์ (micro duct) ก่อนจะขุดเจาะผิวทางเท้า เพราะต้องสำรวจก่อนว่าบริเวณใต้ผิวทางเท้าที่จะขุดเจาะมีอะไรกีดขวาง หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานหรือไม่

แบ่งการดำเนินการเป็น 4 พื้นที่ครับ พื้นที่ไหนพร้อมก็เริ่มดำเนินการทันทีครับ โดยพื้นที่ 1 ระยะทางสองฝั่งทางเท้ารวม 620 กิโลเมตร ครอบคลุมถนนสายหลัก สายรอง ถนนโครงข่าย และซอย บริเวณพื้นที่เขตดุสิต พญาไท บางซื่อ ลาดพร้าว บางเขน หลักสี่ ดอนเมือง สายไหม บึงกุ่ม คันนายาว รวมถึงพื้นที่บางส่วนของเขตราชเทวี จตุจักร วังทองหลาง บางกะปิ มีนบุรี และคลองสามวา ซึ่งเส้นทางนำร่องที่จะดำเนินการ คือ บริเวณ บริเวณถนนวิทยุ ช่วงถนนพระรามที่ 1 - ถนนเพชรบุรี ระยะทาง 2 ฝั่งรวม 1.4 กิโลเมตร

พื้นที่ 2 ระยะทางสองฝั่งทางเท้า รวม 605 กิโลเมตร บริเวณพื้นที่เขตดินแดง วัฒนา ห้วยขวาง สะพานสูง หนองจอก และพื้นที่บางส่วนของเขตสวนหลวง ลาดกระบัง ราชเทวี คลองเตย วังทองหลาง บางกะปิ ประเวศ และคลองสามวา โดยพื้นที่ 2 นำร่องที่จะดำเนินการ ได้แก่ ช่วงสถานี MRT ศูนย์วัฒนธรรมฯ ประตู 2 และประตู 3 – หน้าซอยรัชดาภิเษก 7 และซอยประชาสันติ ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร และบริเวณถนนเทียมร่วมมิตร ต่อเนื่องจากบริเวณถนนรัชดาภิเษก ถึงบริเวณหน้าตึก CW Tower ก่อนถึงแยกศูนย์วัฒนธรรม ระยะทางประมาณ 150 เมตร

พื้นที่ 3 ระยะทางสองฝั่งทางเท้า รวม 605 กิโลเมตร บริเวณพื้นที่เขตบางรัก สาทร ยานนาวา บางคอแหลม ราษฎร์บูรณะ ทุ่งครุ บางขุนเทียน พระโขนง บางนา และพื้นที่บางส่วนเขตคลองเตย สวนหลวง ประเวศ ลาดกระบัง จอมทอง และบางบอน พื้นที่ 3 ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ช่วงถนนราธิวาส – ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 10 รวมสองฝั่งระยะทาง 1.64 กิโลเมตร

พื้นที่ 4 ระยะทางประมาณ 620 กิโลเมตร บริเวณพื้นที่เขตพระนคร สัมพันธวงศ์ ป้อมปราบศัตรูพ่าย ปทุมวัน ธนบุรี คลองสาน บางพลัด บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา ภาษีเจริญ บางแค หนองแขม รวมถึงพื้นที่บางส่วนเขตดุสิต ราชเทวี จอมทอง และบางบอน และพื้นที่ 4 ระยะทาง 618 กิโลเมตร โดยจะนำร่องดำเนินการจากบริเวณถนนวิทยุ ช่วงถนนพระราม 1 - พระราม 4 รวม 1.9 กิโลเมตร

โดยจะเริ่มดำเนินการขุดเจาะและวางท่อร้อยสายได้ประมาณเดือนกรกฎาคม 2562 นี้แล้วครับ จะทำงานในช่วงกลางคืนประมาณ 3 ทุ่ม ถึงตี 5 เพื่อไม่เป็นการรบกวนการสัญจรของพี่น้องประชาชน ตอนนี้กำลังรอในส่วนของท่อร้อยสายจากต่างประเทศ เมื่อเดินทางมาถึงก็จะเริ่มลงมือได้ทันทีครับ สำหรับพื้นที่นำร่องทั้ง 4 พื้นที่นี้ จะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 90 วัน เมื่อแล้วเสร็จ เราก็จะได้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างกรุงเทพฯ ที่จัดระเบียบสายสื่อสารแล้ว

กทม.ได้ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2562 นี้ ทุกพื้นที่จะต้องขุดวางท่อร้อยสายและนำสายสื่อสารลงใต้ดินอย่างน้อยพื้นที่ละ 150 กิโลเมตร โดยมี กสทช. เป็นพี่เลี้ยงในการดำเนินงาน ตลอดจนประสานงานกับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ในการนำสายสื่อสารลงดิน และให้คำแนะนำในการบริหารจัดการต่างๆ เพื่อให้โครงการฯ เดินหน้าอย่างรวดเร็วครับ

กองบรรณาธิการ M2F

ข่าวเด่น

The 1 Insight เผยกลยุทธ์มัดใจ Silver Spenders วัยเก๋าพร้อมเปย์ ชี้ทางรอดแบรนด์ยุค Complete Aged Society พร้อมเทรนด์เด่น Self-Indulgence & Health Enthusiast

The 1 Insight เผยกลยุทธ์มัดใจ Silver Spenders วัยเก๋าพร้อมเปย์ ชี้ทางรอดแบรนด์ยุค Complete Aged Society พร้อมเทรนด์เด่น Self-Indulgence & Health Enthusiast

LH Bank สนับสนุนสินเชื่อจำนวน 1,950 ล้านบาท ให้แก่กลุ่มบริษัท ที ที เอส พลาสติก

นายฉี ชิง-ฟู่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (LH Bank) (ที่ 3 จากขวา) ร่วมลงนามให้การสนับสนุนสินเชื่อจำนวน 1,950 ล้านบาท แก่กลุ่มบริษัท ที ที เอส พลาสติก

ข่าวที่น่าสนใจ