MONEY

โดย กองบรรณาธิการ M2F

13 ตุลาคม 2564 : 10:35 น.

.

การเคหะแห่งชาติยุคใหม่ที่มี พล.ต.ดร.เจียรนัย วงศ์สอาด เป็นประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ และ นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ เป็นผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ(กคช.) กำลังจะเปลี่ยนโฉมครั้งใหญ่เพื่อให้เป็นองค์กรที่เป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะการสร้างที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อย

พล.ต.ดร.เจียรนัย ให้สัมภาษณ์เปิดใจเป็นครั้งแรกหลังรับตำแหน่งว่า ในอดีตมุมมองของทุกคนไม่ได้มองว่า การเคหะแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่ทุกคนยอมรับในภาพพจน์ การเคหะก็พยายามปรับตัวเอง 2 ปีที่ผ่านมาต้องพัฒนาว่าทำอย่างไรให้คนมีรายได้น้อยสามารถมีที่อยู่อาศัยที่ดี และต้องปราบทุจริตในการเคหะด้วยนี่คือสิ่งที่ต้องทำ ก่อนหน้าเกิดโควิดระบาด เศรษฐกิจเริ่มดาวน์ลง คนเริ่มไม่มีเงินใช้ พอปี 62 โควิดมาระบาดคราวนี้ระเนระนาดจึงเริ่มเห็นปัญหาได้วางแผนที่จะเปลี่ยนแปลงให้การเคหะ

การเคหะในอดีตพยายามที่จะเป็นผู้พัฒนาไปแข่งกับเขา แต่ถ้าการเคหะเปลี่ยนตัวจาก developer เป็น landlord น่าจะช่วยได้มาก ยกตัวอย่างบ้านหลังหนึ่ง การเคหะซื้อที่ดินก่อสร้าง เอาไปขายคน มันก็ได้ระดับหนึ่ง แต่ทำไมไม่เอา properties ของประเทศที่ไม่มีต้นทุนมาช่วยเหลือคนรายได้น้อย properties ของประเทศก็คือที่ดินที่เป็นของรัฐ ทำยังไงที่จะทำให้คนมีที่อยู่อาศัยที่ดีโดยที่ราคาถูก ก่อนที่เขาจะตั้งหลักได้ เพราะหลังจากเขาตั้งหลักได้มีรายได้ที่ดีแล้ว เขาจะไปซื้อบ้านที่แพงขึ้นก็แล้วแต่เขา การเคหะก็เลยปรับรูปลักษณ์ของตัวเอง โดยใช้แนวทางว่าเราจะไปตรงบ้านเช่าเป็นหลัก แต่ไม่ทิ้งบ้านขาย

ในอดีตเรามีบ้านขายอยู่ 80 เช่า 20 แต่มันไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศในเรื่องคนไม่มีที่อยู่อาศัยได้ ฉะนั้นเราก็ปรับอัตราส่วนมาเป็นพยายามสร้างบ้านเช่า 80 บ้านขาย 20 ตอนมาเจอการเคหะขายบ้าน 2.5 ล้าน 3 ล้าน ก็ตกใจ นั่นไม่ใช่หน้าที่การเคหะ มันหน้าที่ของ developer การเคหะไม่ใช่มาทำกำไรกับการขายบ้าน พ.ร.บ.การเคหะแห่งชาติ พ.ศ.2537 เขียนไว้ค่อนข้างชัดว่า จัดให้มีเคหะสถานเพื่อให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัย รวมถึงจัดสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้อยู่อาศัย ทำนุบำรุง ปรับปรุง พัฒนา ให้มีคุณภาพที่ดี ไม่ได้สร้างขายแล้วจบ อันนี้การเคหะจึงวางแนวใหม่เราจะเน้นไปหากลุ่มคนที่มีรายได้น้อยเป็นหลักก่อน แล้วจะทำยังไงให้เขามีรายได้สามารถอยู่ได้ในสังคม

แผนแม่บทของการเคหะ 20 ปี ก็มีแผนว่าจะต้องทำเช่า 1 แสน ขาย 5 แสน ข้าราชการ 1 แสน ประมาณ 7 แสนหลังใน 20 ปี แต่ปรากฏว่าพอทำจริงแล้วใน 3 ปี คือ 2560-2563 การเคหะทำได้แค่ 2.11% ที่สร้างเสร็จ ถามว่าปัญหาปัจจุบันที่เกิดขึ้นมันคือการเคหะเองเจอสภาพของเศรษฐกิจในปี 2561 เริ่มดิ่ง กำลังซื้อต่ำลง พอปี 2562 ก่อนโควิด แรงงานเริ่มย้ายฐาน คนเริ่มตกงาน มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ บ้านที่วางไว้จะขายตอนนั้นไม่สามารถสร้างได้ เพราะว่าถ้าจะสร้างต้องมียอดจอง 50 เปอร์เซ็นต์ ยอดจองหาย การเคหะได้รับผลกระทบตั้งแต่ปี 2562 พอเจอโควิด จนมาถึงปี 2564 สภาพตอนนี้ก็เลยหยุดอยู่แถว 2 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ ยังไม่เดินไปไหน ปี 2564-2565 ก็ทำแผนใหม่ ปรับแผนลดจากบ้านขายมาเป็นบ้านเช่าเป็นหลัก เป็นบ้านเช่าคุณภาพดีนั่นก็คือ โครงการบ้านสุขประชา

แนวคิดสำคัญสำหรับโครงการบ้านเคหะสุขประชา คือ ทำยังไงที่เราจะสร้างบ้านให้กับผู้มีรายได้น้อย พร้อมกับมีที่ทำกินด้วย เรามองว่าบ้านควรไปพร้อมอาชีพ นั่นคือให้เช่าพื้นที่ในการทำอาชีพ

สำหรับ รายละเอียดเกี่ยวกับบ้านสุขประชาคือ เป็นโครงการที่เราทำบ้านพร้อมอาชีพโดยตั้งสมมุติฐานว่า ทำยังไงให้คนที่มาอยู่ที่นี่แล้ว มีรายได้ 20,000-30,000 ต่อเดือน พอเป็นบ้านเช่าราคาก็ต้องต่ำกว่าท้องตลาด 40% บ้านขนาดเล็กค่าเช่า 1,500 บาทต่อเดือน บ้านขนาดกลาง เช่าในราคา 2,000 บาทต่อเดือน และบ้านขนาดใหญ่ เช่าได้ในราคา 2,500 บาทต่อเดือน และจัดสรรพื้นที่สำหรับจอดรถแยกออกจากตัวบ้าน มีการจัดสรรพื้นที่สำหรับประกอบอาชีพ ที่ทำได้เพราะได้มาเท่าไหร่ ทำเท่านั้น ไม่มีทอน ไม่มีเหลือ มันเลยทำได้ ปีที่ผ่านมาการเคหะได้รางวัล ITA ขึ้นมาอันดับ 8 จาก 35 นั่นคือการเคหะก็พัฒนาตัวเองแก้ไขปัญหาในอดีตที่เคยเกิดขึ้นได้สำเร็จ 

บ้านที่มาพร้อมอาชีพ หมายความว่า เรามีบ้านแล้วเราก็จะมีพื้นที่ใกล้เคียงที่บ้านเพื่อให้เขาทำอาชีพ ในหนึ่งโครงการก็จะมีที่ทำกินในแต่ละที่ แต่ละจังหวัด แต่ละโลเคชั่นไม่เหมือนกัน ถ้าคุณอยากทำอะไรคุณต้องไปอยู่ตรงนั้น แล้วสร้างระบบเศรษฐกิจให้เกิดในชุมชน ยกตัวอย่างกลุ่มเปราะบางต่างๆ กลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว พ่อเลี้ยงเดี่ยว คนตกงาน คนโดนยึดบ้าน คนจบใหม่ไม่มีงานทำ กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มโฟกัสแรกของการเคหะที่ลงไปช่วยก่อน พออยู่ตรงนี้แล้วเขาได้เงินจากการทำธุรกิจตรงนี้เล็ก ๆ สะสมออมได้แล้ว เขาก็จะมีประสบการณ์ในการดำเนินชีวิตต่อไปได้ ที่นี่เหมือนเป็นศูนย์เพาะให้กับกลุ่มเปราะบาง นี่คือ Concept ใหญ่ๆ ของเคหะสุขประชา ถ้าอธิบายสุขประชาจริง ๆ จะมีอยู่ 6 ประเภทของการทำงาน คือ 1.เกษตรอินทรีย์ ปลูกพืชผัก 2.ปศุสัตว์ เลี้ยงปลา เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ไข่ไก่ 3.อาชีพบริการ สร้างงานในชุมชน กลุ่มแม่บ้าน 4.ตลาด เช่น แผงตลาด ที่จอดรถ 5.อุตสาหกรรมขนาดเล็ก การแปรรูปสินค้า และ 6.ศูนย์การค้าปลีก-ส่ง เช่น Mini Mall คลังกระจายสินค้า โดยพื้นที่ประกอบอาชีพจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ ผู้เช่าสามารถเลือกพื้นที่ที่สนใจหรือความถนัดของตนเอง

ในปี 2564 การเคหะได้จัดทำโครงการนำร่อง 2 พื้นที่ ได้แก่ โครงการบ้านเคหะสุขประชาร่มเกล้า ตั้งอยู่บนถนนร่มเกล้า และ โครงการบ้านเคหะสุขประชาฉลองกรุง เป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ 20,000 หลัง ต่อปี 5 ปี แสนหลัง แบบนี้จะทำให้มีที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น สามารถทำให้ประชาชนมีเงินมาจ่ายการเคหะในรูปของค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าที่ดิน ฐานะการเงินของการเคหะก็จะดีขึ้น สามารถนำเงินส่งรัฐได้ หลังจาก การเคหะเปิดให้จองโครงการบ้านเคหะสุขประชา โครงการที่ฉลองกรุง มีบ้านพร้อมแผงค้าให้เช่า 300 หลัง ที่ร่มเกล้า มี 272 หลัง รวม 572 หลัง แต่ยอดจอง 7 วัน มีกว่า 8 พันคน ทำให้เห็นว่าคนยังต้องการบ้านราคาถูก พร้อมมีอาชีพอีกมาก

การคัดเลือกผู้มีสิทธิ์ได้เข้าอยู่ในโครงการ และเพื่อป้องกันปัญหาการสวมสิทธิ์ การเคหะทำได้คือ ควบคุมกระบวนการจัดการ อย่างในโครงการนำร่องทั้ง 2 โครงการ คนจองสิทธิ์กว่า 8 พันคน เราใช้วิธีจับฉลากต่อหน้าธารกำนัล เอากรรมการที่มาจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)มาจับฉลาก ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของการเคหะทำกันเอง แต่การจับฉลากต้องผ่านการคัดเลือกว่าเป็นกลุ่มที่เดือดร้อน และเหมาะที่จะอยู่ในโครงการ

โมเดลนำร่องเบื้องต้นที่ตั้งไว้คือโครงการละ 300 หลัง จังหวัดละ 1 โครงการ แต่ถ้าจังหวัดใหญ่ก็อาจมีเพิ่มขึ้น ถ้ามีความต้องการสูง แต่บางจังหวัดอาจไม่พร้อมเพราะไม่มีที่ การเคหะก็ต้องหาที่เพิ่ม ล่าสุดได้ทำ MOU กับกรมธนารักษ์ ใช้ที่ราชพัสดุที่มีต้นทุนต่ำ คนที่อยู่อาศัยก็จะใช้ต้นทุนชีวิตไม่สูง ในปีหน้าก็จะเริ่มเห็น เราจะทำสองแบบ คือ การเคหะทำเอง กับให้บริษัทลูกทำ ความต่างเราไม่ควรใช้เงินรัฐไปสร้าง เพราะ การเคหะเป็นรัฐวิสาหกิจ ควรที่จะอยู่ได้ด้วยตัวเอง หาวิธีไม่ไปพึ่งงบประมาณจากรัฐ

ถาม : ทำไมการเคหะไม่สร้างบ้านเพื่อเป็นบ้านตัวอย่าง

ตอบ : เนื่องจากงบมีจำกัดเท่ากับการสร้างขายพอดี ทำให้ไม่สามารถสร้างบ้านตัวอย่างเพิ่มได้

ถาม : บ้านของการเคหะที่ขายไม่ได้สามารถทำเป็นบ้านเช่าได้ไหม

ตอบ : ท่านนายกรัฐมนตรีสั่งตั้งแต่ปี 2563 ปรับบ้านที่ขายไม่ได้เป็นบ้านเช่าราคา 999 บาท จำนวนกว่า 10,000 หลัง จัดเป็นโครงการบ้านเช่าราคา 999 บาท เพื่อช่วยพยุงคน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ได้ผลตอบรับที่ดีตอนนี้มีผู้เช่าอยู่เต็มแล้ว

ถาม : บ้านที่สร้างเพื่อขายนำมาปรับเป็นบ้านเช่าแบบนี้ ผิดระเบียบการจัดสร้างไหม

ตอบ : ไม่ผิดเนื่องจากเป็นการเช่าซื้ออยู่แล้ว การเคหะจะจัดเป็นการเช่าซื้อจะเช่าก็ได้ซื้อก็ได้

ถาม : ปัญหาหลักของการขายบ้านไม่หมดเพราะอะไร

ตอบ : การเคหะแข่งขันกับเอกชนมันเหนื่อย วันนี้ประกาศว่า ทำเลดีแต่ผ่านไป 2 ปีกว่าจะได้รับการอนุมัติสร้าง คนก็ปรับเปลี่ยนที่อยู่กันหมดแล้ว ลูกค้าที่คุยกันไว้ว่า จะซื้อ ก็ได้บ้านกันหมดแล้ว ทำให้ยอดคนซื้อบ้านที่สำรวจไว้ก่อนหน้านั้นหายไป ผมแจ้งว่า ก่อนจะทำการสร้าง ให้รีเชคก่อนเสมอว่า ยังมีลูกค้าที่จะซื้อบ้านนั้นอยู่กี่คน แล้วค่อยดำเนินการสร้าง ไม่เอาจำนวนตัวเลขที่เคยสำรวจก่อนหน้านั้นมาสร้าง สังเกตได้ว่าปี 2563 จะไม่มีการสร้างบ้านโครงการใหม่ๆเลย มีแต่โครงการเก่าที่สร้างไว้ 3-4 ปี เนื่องจากต้องสำรวจก่อนว่าที่บริเวณนั้นมีคนซื้อกี่คน ถึงจะดำเนินการสร้างได้ และตอนนี้มีสร้างแค่โครงการบ้านสุขประชา เนื่องจากเป็นบ้านเช่าและมียอดจอง 8,000 ห้อง และราคาเช่าสมเหตุสมผลกับสภาพห้อง

ถาม : โครงการบ้านสุขประชามันยากไหมที่ต้องทำให้อาชีพด้วย รายได้ต้องการรันตีไหมว่าต้องมีอาชีพให้ได้ตามเป้า 

ตอบ : โครงการบ้านล้านหลังในอดีต บิดไปเป็นบ้านสินเชื่อ แต่รอบนี้จะทำโครงการตัวอย่างบ้าน 100,000 หลัง

ถาม : สามารถการันตีได้ไหมว่า มาอยู่โครงการนี้แล้วมีอาชีพรายได้ อาชีพมั่นคง

ตอบ : ผู้อาศัยสามารถเลือกทำเลที่อยู่ได้ แต่ไม่สามารถเลือกอาชีพได้ หรือเลือกอาชีพได้แต่ไม่สามารถเลือกทำเลได้ บริษัทลูกจะเป็นคนดูแลรับซื้อไปวางขาย เป็นภาระกิจของรัฐที่ไม่ใช่แค่สร้างบ้าน แต่สร้างอาชีพให้แก่ผู้อยู่อาศัย ยกระดับและคิดว่าทำยังไงให้ผู้อยู่อาศัยมีรายได้มากกว่า 22,000 บาท แต่ยังไม่มีใครทำได้ ผมเลยยกโจทย์มาว่า จะทำยังไงให้ผู้อยู่อาศัยมีรายได้มากกว่า 22,000 บาท ถึงดีไซน์ตัวนี้ออกมา เคหะทำเองดูแลตัวเองต้นทุนที่จะเกิดมันก็หายไป อย่างพาร์ทเนอร์ของพารต์เนอร์ก็เข้ามาถือหุ้นด้วย เงื่อนไขคือต้องไม่คิดกำไรจากโครงการนี้มากเกินไป ได้กำไรบ้างนิดหน่อยตามปกติ

ถาม : การเซ็นสัญญากับการเคหะนานกี่ปี ว่าต้องรับซื้อผลิตภัณฑ์จากการเคหะ

ตอบ : รับซื้อจากการเคหะแน่นอนเพราะเค้าเป็นผู้ถือหุ้นด้วย เป็นเจ้าของร่วมกับการเคหะเค้าไม่ใช่ลูกค้า มีหน้าที่ในการซัพพอท ถ้าโครงการดีไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนมาก็พลักดันต่อ ตอนนี้เสนอไป 20,000 หลัง แต่ท่านนายกฯอยากให้ได้ 100,000 หลังภายใน 1-2 ปี แต่สภาพัฒน์ฯ ขอสร้างนำร่องก่อน ให้มั่นใจว่าโครงการนี้ดำเนินการได้จริง โดยรื้อและรีโนเวทโครงการบ้านสุขเกษม ในดีไซน์โครงการนี้จะไม่มีอาชีพเนื่องจากทำบ้านเช่าผู้สูงอายุ หรือผู้เกษียณแต่มีบ้านดี สภาพแวดล้อมที่ดีให้อยู่ มี 3 โลเคชั่น 1 กรุงเทพฯ เทพารักษ์ ประมาณ 5,000 หลัง ที่เทพารักษ์ตอนนี้ดำเนินการไป 20 กว่าตึก จาก 49 ตึก แห่งที่ 2 คือ บางละมุง จ.ชลบุรี ที่ติดทะเล แห่งที่ 3 ที่เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ให้ผู้เกษียณเลือกได้ว่า อยากอยู่ในเมือง ทะเล หรือติดเขา แต่เป็นบ้านเช่า สามารถเลือกได้ว่าอยากเช่าอยู่ที่ไหน จะเริ่มจากอาชีพราชการก่อนเนื่องจากดีไซน์นี้ไม่มีอาชีพให้ เรื่องราคาค่าเช่าจะสูง 25 % ราคาเช่าประมาณ 2,500 บาท ในการเข้าอยู่ต้องช่วยกันดูว่า จะมีกลุ่มอาชีพไหนอยู่ด้วยบ้าง มีกลุ่มหมอ พยาบาล 10 % เพื่อจะดูแลกันเบื้องต้นได้ ซึ่งข้าราชการบางคนเงินเดือนน้อยไม่มีบ้านก็จะมาอยู่บ้านเช่าแบบนี้ได้

ประเทศเราถูกสร้างด้วยคนรุ่นก่อน คนที่อายุ 60 ปี อาจจะเป็นคนสร้างประเทศ มาสร้างตึก ทำนา ทำไร่ ตึกที่อยู่เค้าอาจจะเป็นคนสร้างก็ได้ รัฐต้องดูแลกลุ่มนี้ การเคหะต้องทำให้คณะรัฐมนตรีให้สภาพัฒน์ฯเห็นภาพว่า จะดำเนินการอย่างไรก่อนที่จะทำโครงการ รัฐต้องดูแลกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ข้าราชการชั้นผู้น้อย หรือแม้กระทั้งคนพิการให้มีที่อยู่อาศัย แนวคิดเหล่านี้จะเกิดได้คือ จะต้องสำรวจความต้องการของผู้เช่าก่อน เราจะไม่สร้างหากยังไม่มีตลาดรองรับ ช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม จะต้องเปิดให้ผู้อยู่อาศัยจองก่อนเต็มแล้วค่อยเปิดเฟสใหม่ สร้างใหม่เพิ่มอีก

ถาม : ถ้าเปลี่ยนรัฐบาลแล้วโครงการจะยังอยู่ไหม 

ตอบ : ประเทศไม่ได้อยู่ได้ด้วยรัฐบาลแต่อยู่ได้ด้วยความถูกต้องต่อให้เปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนนายกฯ หรือเปลี่ยนบอร์ด ถ้าโครงการดีมันก็จะดำเนินการต่อไปได้ แต่ถ้าโครงการไหนไม่ดี ต่อให้ไม่เปลี่ยนรัฐบาลมันก็ล้มเอง

ถาม : มินิมอล ในสุขประชากว่า 200 หลัง ผู้อยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่เปิดมินิมอลแล้วจะขายอย่างไร

ตอบ : ในดีไซน์เราต้องการให้คนมีเงินเดือน 20,000 บาท ในมินิมอลก็จะมีนักลงทุนมาเช่าที่รายได้เข้าการเคหะ ผู้อยู่อาศัยจะมาขายในตลาดที่การเคหะจัดสร้างให้ ผู้อยู่อาศัยมีที่ทำกินมีอาชีพค้าขาย ห้ามผู้อยู่อาศัยให้คนอื่นมาเช่า สุดท้ายเค้ามีอาชีพ เค้าก็มีรายได้จากตรงนี้สำหรับการดำรงชีพอยู่ได้ เราต้องวิเคราะห์ว่าทำเลนั้นสามารถทำตลาดได้ หรือทำมินิมอลได้ถึงจะสร้าง และให้ผู้อยู่อาศัยเป็นผู้บริการในมินิมอล นายทุนที่จะมาเปิดต้องยอมรับเงื่อนไขว่า ถ้าจะเปิดร้านตรงนี้ให้รับผู้อาศัยเข้าทำงานด้วย

สิ้นปีนี้จะได้ 2 ไซส์ และกำหลังจะส่งอีก 13 ไซส์ เคหะทำเองด้วยและให้บริษัลูกทำด้วย ทำขนานกันไป บริษัทลูกจะไประดมเงินทางตลาดหลักทรัพย์ เหมือน ปตท. รัฐจะได้ไม่ต้องแบภาระ รัฐวิสาหกิจก็จะได้มีปันผลมีรายได้ คนที่บริหารก้ต้องคิดว่าเราทำเพื่อสังคม อีก 13 เคสมีที่พร้อมทำ และไม่เกินกลางปีน่าจะได้รับการอนุมัติ เริ่มกระจายตัวไปตามต่างจังหวัด อย่างน้อยต้องมีสัก 300 หลังที่ต้องการที่อยู่และอาชีพ ถ้าไม่ถึงก็ไม่สร้าง

ถาม : ความสำเร็จของโครงสุขประชาจะเห็นเมื่อระบบเศรฐกิจดำเนินไปได้ ผู้อยู่อาศัยต้องมีทักษะเป็นผู้ประกอบการ แต่ถ้าเค้าไปอยู่แล้วมันไม่เกิดอาชีพ ไม่มีความสุขไม่อยากทำสามารถเปลี่ยนที่อยู่ได้ไหม แล้วถ้าเค้าได้สิทธิ์แล้วทำอาชีพนั้นไม่ได้จะทำอย่างไร

ตอบ : ถ้าผู้อยู่อาศัยต้องการทำอาชีพอะไรต้องไปโครงการนั้นๆ หากทำอาชีพนั้นไม่ได้ต้องมาดูว่าปัญหาอยู่ที่กระบวนการไหน ก็จะต้องลงไปแก้ไขปัญหาตรงนั้น การผลิต การขาย ต้นทุนน้อยไม่ได้เช่าที่แพงมาและผลิตเองก็จะพอมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ และบริษัทลูกจะต้องมีทุนทรัพย์พอที่จะรับไปขายให้ด้วย หรือถ้าการขายไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ ก็ต้องมีประกันภัยเขามาดูแลเยียวยา หรือถ้าสุดท้ายแล้วเขาทำอาชีพนั้นไม่ได้เขาก็ต้องออกไปที่อื่น เพื่อหาที่อยู่และทำอาชีพพอเลี้ยงตัวเองได้

ถาม : คนที่ต้องการได้บ้านจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร

ตอบ : หลักๆ แล้วต้องตรวจพิจารณาว่า ผู้อยู่อาศัยโครงการนี้จะต้องไม่มีอาชีพ และพร้อมที่จะทำอาชีพที่โครงการกำหนดให้ ถึงจะเข้าอยู่ได้ เนื่องจากมีอาชีพและรายได้เป็นตัวกำหนด ธนาคารออมสินจะเป็นผู้ดูแลเรื่องโครงการกู้ และผ่อนชำระ คนที่ไม่มีอาชีพไม่มีบ้านต้องย้ายที่อยู่ย้ายจังหวัดเพื่อไปประกอบอาชีพจนกว่าเขาจะหาอาชีพที่เหมาะกับเขา เพราะโครงการของการเคหะนี้ต้องพิจารณาว่าทำเลไหนเหมาะกับอาชีพอะไร แล้วให้ผู้อยู่อาศัยประกอบอาชีพนั้น เราทำหน้าที่ให้โอกาสกับคนที่ต้องการและพร้อมสร้างอาชีพ หากประกอบอาชีพนั้นแล้วทำไม่ได้ต้องมาดูว่าเขาทำไม่ได้เพราะอะไร สกิลไม่ถึง ต้องเทรนเค้าใหม่ หรือเกิดจากภัยธรรมชาติ ภาคการผลิตหากเกิดปัญหาการเคหะจะต้องเข้าไปดูแลแก้ไขให้เขา ถ้าแก้ได้ก็ฟื้นขึ้นมาได้ ถ้าไม่เหมาะกับอาชีพนั้นจริงๆ ต้องเปลี่ยนอาชีพให้เขาให้สามารถดำรงอยู่ได้

ส่วนโครงการบ้านสำหรับคนจบใหม่ จะสร้างขึ้นแถวตามแนวรถไฟฟ้า เช่น คลองจั่นและร่มเกล้า ค่าเช่า 3,000 บาท โดยจะขอความร่วมมือกับรฟม.เพื่อทำตั๋วรายเดือนให้กับคนกลุ่มนี้ หากมีฐานเงินเดือนเพิ่มขึ้นอาจจะออกไปอยู่ที่อื่นก็ได้ แต่ตรงนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของคนทำงาน อันนี้อยู่ในช่วงกำลังคิดวางแผน

ข่าวเด่น

The 1 Insight เผยกลยุทธ์มัดใจ Silver Spenders วัยเก๋าพร้อมเปย์ ชี้ทางรอดแบรนด์ยุค Complete Aged Society พร้อมเทรนด์เด่น Self-Indulgence & Health Enthusiast

The 1 Insight เผยกลยุทธ์มัดใจ Silver Spenders วัยเก๋าพร้อมเปย์ ชี้ทางรอดแบรนด์ยุค Complete Aged Society พร้อมเทรนด์เด่น Self-Indulgence & Health Enthusiast

LH Bank สนับสนุนสินเชื่อจำนวน 1,950 ล้านบาท ให้แก่กลุ่มบริษัท ที ที เอส พลาสติก

นายฉี ชิง-ฟู่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (LH Bank) (ที่ 3 จากขวา) ร่วมลงนามให้การสนับสนุนสินเชื่อจำนวน 1,950 ล้านบาท แก่กลุ่มบริษัท ที ที เอส พลาสติก

ข่าวที่น่าสนใจ