THAI NEWS

17 มีนาคม 2566 : 20:26 น.

สคช. ร่วมกับสถาบันฮาลาล ม.อ. เดินหน้าพัฒนากำลังคนด้านฮาลาล สร้างโอกาสและความท้าทายในตลาดโลกด้วยมาตรฐานอาชีพ

สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. นำโดยนางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมกับสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  จัดกิจกรรม “ต่อยอดอาชีพด้วยฮาลาล สร้างโอกาสธุรกิจฮาลาลสู่ระหว่างประเทศ” เพื่อยกระดับอาหารฮาลาลของไทย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยมี ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยนายมายิด บิน มูฮัมหมัด อัล-ฎออียาน ที่ปรึกษาฝ่ายศาสนาอิสลามประจำสถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ประจำประเทศไทย, นายประสาร บุญส่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย, นายฐานิศร์ ณ สงขลา อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงปานามา ประเทศบาห์เรน, นายดำรง พุฒตาล อดีตสมาชิกวุฒิสภา, ผศ.ดร.อัสมัน แตอาลี ผู้อำนวยการสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, นางสาวภัสสรา อมรพิมลธรรม ผู้จัดการแผนกกลยุทธ์การตลาดสาขา ศูนย์การค้าเซ็นทรัล หาดใหญ่ และบุคลากรจากภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมงาน

นางสาววรชนาธิป กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารฮาลาลรายใหญ่อันดับที่ 11 ของโลก จากการส่งออกวัตถุดิบ ข้าว แป้งมันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ผลไม้สด ผัก ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ สินค้าประมง เนื้อไก่ และอาหารทะเลแปรรูป รวมมูลค่าส่งออกราว 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ  คิดเป็นร้อยละ 2.44 ของตลาดโลก ประกอบกับการที่ประเทศไทยฟื้นความสัมพันธ์กับประเทศซาอุดีอาระเบีย ส่งผลให้ปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวจากซาอุฯ เดินทางเข้าไทยกว่า 7 หมื่นคน ผู้ประกอบอาหารฮาลาลจึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างมูลค่า จัดการความปลอดภัยตามกระบวนการผลิตอาหารฮาลาลได้ถูกต้องตามหลักศาสนา และเป็นไปตามมาตรฐานอาชีพ ซึ่งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้ร่วมมือกับสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ส่งเสริมต่อยอดให้ผู้สำเร็จหลักสูตรการจัดการระบบกิจการฮาลาล ให้ได้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อยืนยันความสามารถในการทำงานทั้งในสาขาวิชาชีพการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ในงานควบคุมความปลอดภัยในอาหาร และการปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลามได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะเกิดประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง ต่ออุตสาหกรรมการผลิตอาหารและเครื่องดื่มของไทย สร้างความเชื่อมั่นและยอมรับของผู้บริโภคทั้งชาวไทย และพี่น้องมุสลิมทั่วโลกด้วย ซึ่งมีผู้ประกอบการ นักศึกษาในจังหวัดชายแดนใต้ ผ่านการอบรมและเข้าสู่การประเมินเพื่อรับคุณวุฒิวิชาชีพ ได้เข้าทำงานเป็นเชฟในโรงแรม และให้บริการร้านอาหารมาแล้วหลายราย

ผศ. ดร.อัสมัน แตอาลี ผู้อำนวยการสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าสถาบันฮาลาล ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้มีการจัดทำหลักสูตร Non-degree การจัดการระบบกิจการฮาลาล รุ่นที่ 3 โดยการเทียบเคียงหลักสูตร การจัดการระบบกิจการฮาลาล (Halal System Management) ประเมินความสอดคล้องตามมาตรฐานอาชีพ ในสาขาวิชาชีพการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม อาชีพผู้ควบคุมความปลอดภัยอาหาร ระดับ 4 มีผู้สำเร็จการศึกษาแล้ว 31 ราย ซึ่งคนแหล่านี้เป็นบุคลากรที่มั่นใจได้ว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถด้านอาหารฮาลาลในทุกมิติ และดำเนินงานด้านกิจการอาหารฮาลาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้าน ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้ความสำคัญในการพัฒนากำลังคนด้านฮาลาลและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อผลักดันให้หลักสูตรการจัดการระบบมาตรฐานเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างความเชื่อมั่นในระบบการรับรองมาตรฐานฮาลาลของประเทศต่อไป

ข่าวเด่น

ข่าวในประเทศ

ข่าวที่น่าสนใจ