THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

31 พฤษภาคม 2565 : 12:15 น.

นายกฯร่ายยาวรัฐบาลจัดงบวงเงิน 3.18 ล้านล้านจำแนกตามยุทธศาสตร์ 6 ด้าน เผยสถานะการคลังหนี้สาธารณะคงค้าง 9.9 ล้านล้านบาท คุยเงินสำรองระหว่างประเทศแข็งแกร่ง พร้อมกัน 9.59 หมื่นล้าน เผื่อฉุกเฉินจำเป็น-แก้โควิด

เมื่อวันที่ 31 พ.ค.65 เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ที่มี นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม โดยได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า จำนวนสมาชิกที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ มีจำนวน 477 คน องค์ประชุมคือ 239 คน

ทั้งนี้ ก่อนการประชุมเริ่มขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เดินทางมาถึงรัฐสภา โดยมีแกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นำโดย นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม และสมาชิกพรรคกว่า 30 คน ได้มารอรับ ทันทีที่นายกฯมาถึงบรรดา ส.ส. เข้าไปสวัสดีและแสดงตัว ซึ่งนายกฯได้ทักทายด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส พร้อมกล่าวกับคนที่มาต้อนรับว่า "ฝากด้วยนะ ช่วยกัน" เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ากังวลอะไรหรือไม่ นายกฯส่ายหน้า เมื่อถามต่อว่าพร้อมหรือไม่ นายกฯเพียงหันมาพยักหน้า ก่อนเดินเข้าลิฟต์ทันที

ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่วาระการพิจารณา พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า ร่าง พ.ร.บ.งบฯ 66 ที่รัฐบาลนำเสนอต่อสภา เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปีงบฯ 65 ซึ่งเศรษฐกิจไทยในปี 66 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.2 - 4.2 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ภายในประเทศ การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี ขณะที่ยังมีข้อจำกัด และปัจจัยเสี่ยง จากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจ การเงินโลก และการกลายพันธุ์ของไวรัส รวมทั้งการลดลงของแรงขับเคลื่อนทางการคลัง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.5 - 1.5 ภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว ผ่านการจัดทำงบประมาณขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดรายได้สุทธิ จำนวน 2.49 ล้านล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 9.45 แสนล้านบาท รวมเป็นรายรับ จำนวน 3.18 ล้านล้านบาท ซึ่งเท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่าย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับฐานะการคลัง หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มี.ค.65 มีจำนวน 9.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 60.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม ในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 70 โดยหนี้สาธารณะที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาล ซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงินโดยตรง และการค้ำประกันเงินกู้โดยรัฐบาล มีจำนวน 9.47 ล้านล้านบาท ส่วนฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 เม.ย.65 มีจำนวน 3.98 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับ รายจ่าย ของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 22 เม.ย.65 มีจำนวน 2.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 3.15 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ร่าง พ.ร.บ.งบฯ 66 มีเป้าหมายให้ประเทศได้รับการพัฒนา และฟื้นฟูจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรมนุษย์ ความมั่นคง และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) นโยบายของรัฐบาล เป็นต้น ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.งบฯ 66 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2.39 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 75.26 รายจ่ายลงทุน จำนวน 6.9 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21.82 และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 1 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.14 ทั้งนี้รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ เป็นรายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 7 พันล้านบาท ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายในกรอบวินัยการเงินการคลัง

นายกฯ กล่าวอีกว่า งบฯ 65 จำแนกตามกลุ่มงบประมาณรายจ่าย เป็นงบกลาง 5.9 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.6 งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ 1.09 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 34.2 งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ 2.18 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.9 งบประมาณรายจ่ายบุคลากร 7.7 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24.2 งบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน 2.6 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.5 และงบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ 3.06 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.6 อย่างไรก็ตาม งบฯ 66 จำแนกตามยุทธศาสตร์ได้ 6 ยุทธศาสตร์ 1 รายการ ดังนี้

ด้านความมั่นคง รัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายจ่าย 2.96 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.3 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3.96 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.4 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 5.49 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.2 ด้านการสร้างโอกาส และความเสมอภาคทางสังคม 7.59 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23.9 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 1.22 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.9 และด้านการปรับสมดุล และพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 6.58 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20.7 รวมถึงรายการค่าดำเนินการภาครัฐ 4.02 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.6 ของวงเงินงบประมาณ

นายกฯ กล่าวอีกว่า รายจ่ายงบกลางเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 9.59 หมื่นล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกัน หรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง ภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ และการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมทั้งชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้างเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ

ข่าวเด่น

ข่าวทั่วไทย

ข่าวที่น่าสนใจ