THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

12 มิถุนายน 2565 : 10:26 น.

โพลนิด้าเผยสังคมไทยยอมรับเพศที่ 3 เห็นด้วยให้มีการอนุญาตเปลี่ยนคำนำหน้านาม จดทะเบียนคู่ชีวิต เพิ่มเพศทางเลือกในการกรอกเอกสารราชการ

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “สังคมไทยคิดอย่างไรกับเพศที่ 3” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 8-10 มิถุนายน 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับทัศนคติที่มีต่อเพศที่ 3 ในประเด็นต่าง ๆ 

จากการสำรวจเมื่อถามถึงการยอมรับของประชาชนหากมีเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงานในองค์กรเป็นเพศที่ 3 พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 92.82 ระบุว่า ยอมรับได้ ขณะที่ ร้อยละ 7.18 ระบุว่า ไม่สามารถยอมรับได้ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ ปี 2562 พบว่า ผู้ที่ระบุว่ายอมรับได้ในปี 2565 มีสัดส่วน เพิ่มขึ้น

ด้านการยอมรับของประชาชนหากมีสมาชิกหรือคนในครอบครัวเป็นเพศที่ 3 พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 90.61 ระบุว่า ยอมรับได้ รองลงมา ร้อยละ 9.31 ระบุว่า ไม่สามารถยอมรับได้ และร้อยละ 0.08 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ และเมื่อเปรียบเทียบกับ ผลการสำรวจ ปี 2562 พบว่า ผู้ที่ระบุว่ายอมรับได้ในปี 2565 มีสัดส่วน เพิ่มขึ้น

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการอนุญาตให้เพศที่ 3 สามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามได้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 63.59 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 36.18 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 0.23 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ โดยในจำนวนของผู้ที่ระบุว่า เห็นด้วยกับการอนุญาตให้เพศที่ 3 สามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามได้ (จำนวน 833 หน่วยตัวอย่าง) ร้อยละ 57.62 ระบุว่า ได้ทุกกลุ่ม ขณะที่ ร้อยละ 42.38 ระบุว่า เฉพาะผู้ที่แปลงเพศแล้ว และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ ปี 2562 พบว่า ผู้ที่ระบุว่าเห็นด้วยในปี 2565 มีสัดส่วน เพิ่มขึ้น

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการออกกฎหมายยอมรับการจดทะเบียนคู่ชีวิต (สมรส) ของบุคคลเพศเดียวกัน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 79.62 ระบุว่า เห็นด้วย ขณะที่ ร้อยละ 20.38 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ ปี 2558 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า เห็นด้วย มีสัดส่วน เพิ่มขึ้น

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการเพิ่มเพศที่ 3 หรือเพศทางเลือกในการกรอกข้อมูลเอกสารราชการทุกชนิด พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 77.63 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 22.14 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 0.23 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ ปี 2562 พบว่า ผู้ที่ระบุว่าเห็นด้วยในปี 2565 มีสัดส่วน เพิ่มขึ้น

ข่าวเด่น

ข่าวทั่วไทย

ข่าวที่น่าสนใจ