THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

23 ธันวาคม 2561 : 17:24 น.

รมว.มหาดไทย สั่งเข้มงวดการก่อสร้างอาคารต้องมีระบบบำบัดน้ำเสีย พร้อมสั่งตรวจระบบบำบัดน้ำเสียทั่วประเทศและสร้างการรับรู้ให้ประชาชน

เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ที่องค์การจัดการน้ำเสีย อาคารเล่าเป้งง๊วน 1 ถนนวิภาวดีรังสิต พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พร้อมด้วยนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการดำเนินงานขององค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) โดยมี นายชัยเกียรติ ห่านสัมฤทธิ์ ประธานกรรมการองค์การจัดการน้ำเสีย พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ และนายชีระ วงศบูรณะ รักษาการผอ.องค์การจัดการน้ำเสีย ให้การต้อนรับ

พล.อ. อนุพงษ์ กล่าวว่า ปัญหาน้ำเสียถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ และต้องดำเนินการให้เป็นกิจจะลักษณะ การดำเนินการจัดทำแผนแม่บทการจัดการน้ำเสีย ต้องทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบูรณาการร่วมกันระหว่างองค์การจัดการน้ำเสียและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามอำนาจหน้าที่

ทั้งนี้ จะต้องสร้างการรับรู้ความเข้าใจกับประชาชนทุกระดับ รวมทั้งต้องเข้มงวดกวดขัน การพิจารณาอนุญาตก่อสร้างอาคาร โดยตรวจสอบระบบบำบัดน้ำเสียภายในอาคารให้เป็นไปตามกฎหมาย รวมทั้งได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบอาคารเก่าในเรื่องระบบบำบัดน้ำเสียในอาคาร ให้เป็นไปตามกฎหมายควบคุมอาคารด้วย

นายชีระ วงศบูรณะ รักษาการผอ.องค์การจัดการน้ำเสีย กล่าวว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณน้ำเสียชุมชน 9.50 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน สามารถบำบัดจากระบบบำบัดชนิดติดตั้งกับที่ ณ แหล่งกำเนิดน้ำเสีย ได้แก่ บ้าน อาคาร สำนักงาน โรงงาน โรงพยาบาล ฯลฯ คงเหลือปริมาณน้ำเสีย 4.80 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ปัจจุบันประเทศไทยมีระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนรวม 105 แห่ง แบ่งเป็น กทม. 8 แห่ง และ อปท. 97 แห่ง ในจำนวนนี้ อจน. เข้าไปดำเนินการ 26 แห่ง ซึ่งสามารถบำบัดได้ 3.20 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน คงเหลือปริมาณน้ำเสียที่ต้องบำบัดรวม 1.60 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำหรับ องค์การจัดการน้ำเสีย เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงมหาดไทย ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การจัดการน้ำเสีย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2561 มีวัตถุประสงค์ในการจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียรวม ภายในเขตพื้นที่จัดการน้ำเสีย การให้บริการรับบริหารหรือจัดการระบบบำบัดน้ำเสีย และการบริการหรือกิจการต่อเนื่องที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพในเชิงเศรษฐกิจ มีเป้าประสงค์รวม คือ น้ำเสียได้รับการบำบัดให้มีคุณภาพได้ตามมาตรฐานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวม 400 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี 2560 - 2564

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ