THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

25 เมษายน 2562 : 20:49 น.

สช.ตั้งวงถก ประเด็น “เร่งตาย VS เลือกตาย สิทธิในวาระสุดท้าย ใครกำหนด ?” อาจารย์แพทย์จุฬาฯ ยืนยันผู้ป่วยทำหนังสือปฏิเสธการรักษาเพื่อยื้อชีวิตได้ แพทย์ทำตามไม่ผิดจรรยาบรรณ

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2562 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดเวที สช.เจาะประเด็น “เร่งตาย VS เลือกตาย สิทธิในวาระสุดท้าย ใครกำหนด ?” เพื่อให้ข้อมูลถึงทางเลือกที่แตกต่างในวาระสุดท้ายของชีวิต และสะท้อนถึงการจากไปอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยการใช้สิทธิตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และเข้ารับการดูแลรักษาแบบประคับประคอง (Palliative care) โดยมี ผู้ที่สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ จ.นนทบุรี

ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะกรรมการที่ปรึกษาด้านสิทธิสุขภาพ สช. กล่าวว่า ทั่วโลกมีสิทธิการตายหลักๆ อยู่ 2 แบบ ได้แก่ 1. แบบธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้การรับรอง 2. แบบเร่งรัด หรือขอตายก่อนเวลา เช่นกรณีผู้ป่วยไม่สามารถทนต่อความเจ็บปวดต่อไปได้จึงร้องขอให้แพทย์ทำการุณยฆาต ซึ่งปัจจุบันมีไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่มีกฎหมายรับรองให้สามารถกระทำได้อย่างถูกต้อง

สำหรับ ประเทศไทย “การตายตามธรรมชาติ” มี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 รับรอง โดยให้สิทธิทุกคนสามารถทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตได้ (Living Will) กรณีนี้ถือว่า เป็นการใช้สิทธิเลือกตายอย่างสงบโดยปราศจากการเหนี่ยวรั้งด้วยเครื่องมือต่างๆ ซึ่งจะไม่ใช่การเร่งตายแบบการุณยฆาต ดังนั้นแพทย์ที่ทำตามหนังสือแสดงเจตนาของผู้ป่วย จะไม่ถือว่ามีความผิดใดๆ ส่วน “การเร่งตาย” ขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายรองรับ การทำให้ตายเร็วขึ้นไม่ว่าจะด้วยจุดประสงค์ที่ดีหรือไม่ก็ตามทางกฎหมายจะมองว่าผู้กระทำมีเจตนาฆ่าทั้งสิ้น ฉะนั้นจึงเข้าข่ายความผิดต่อชีวิตคือการพยายามฆ่าทุกกรณี

ศ.แสวง กล่าวว่า ผู้ป่วยสามารถทำหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาเพียงเพื่อยื้อชีวิต และขอรับการดูแลรักษาแบบประคับประคองได้ในขณะที่มีสติสัมปชัญญะครบถ้วน ซึ่งการทำหนังสือแสดงเจตนาฯ จะไม่มีแบบฟอร์มเหมือนจัดทำเรื่องทรัพย์สิน พินัยกรรม จึงเขียนแบบใดก็ได้ โดยสามารถดาวน์โหลด ตัวอย่างเอกสารจาก สช. เพื่อเขียนเองด้วยลายมือและลงชื่อไว้ หรือพิมพ์ออกมาพร้อมลงชื่อตัวเองพร้อมพยาน ส่งสำเนาให้แพทย์ผู้รักษาต่อไป

ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในหัวข้อ “สิทธิมาตรา 12 ดีทุกฝ่าย-ได้ทุกคน” โดยถ่ายทอดประสบการณ์ตรงจากที่เคยอยู่ในสหรัฐอเมริกา ตอนหนึ่งว่า ผู้ป่วยในสหรัฐอเมริกาที่ขอรับการุณยฆาต มักจะเป็นผู้ที่มีอาการปวดรุนแรงจนทนไม่ได้ รักษาไม่หาย โดยส่วนใหญ่เป็นโรคที่ยังมีสติ แต่ร่างกายพิการ ใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก และมีความเครียดสูง

“ต้องเข้าใจด้วยว่าลักษณะของสังคมอเมริกันจะต่างคนต่างอยู่ เอื้อเฟื้อกันน้อย และมีความเคารพสิทธิซึ่งกันและกันสูง ดังนั้นหากผู้ป่วยตัดสินใจขอการุณยฆาตก็จะถือว่าผู้ป่วยได้เลือกแล้ว แต่การทำการุยฆาตก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ผู้ป่วยจะต้องผ่านการประเมินทั้งจากทีมแพทย์ ทีมจิตแพทย์ ทีมจริยธรรม เพื่อให้แน่ใจว่าการร้องขอ ไม่ได้เป็นไปด้วยอารมณ์ชั่ววูบ และอาการป่วยก็ไม่มีแนวทางการรักษาอื่นแล้วจริงๆ เพราะหากยังมีแนวทางรักษาได้ทีมแพทย์ก็จะโน้มน้าวให้ไปรักษาทางอื่นแทน” ศ.นพ.อิศรางค์ กล่าว

ข่าวเด่น

ข่าวทั่วไทย

ข่าวที่น่าสนใจ