THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

29 เมษายน 2562 : 19:13 น.

กสศ.เตรียมนำเครื่องมือจัดการเรียนการสอนมุ่งทักษะศตวรรษ 21 ที่วิจัยร่วม OECD สำเร็จแล้ว มาใช้ขยายผลในสถานศึกษาต้นแบบลดเหลื่อมล้ำ 280 แห่งปีการศึกษา 62 นี้

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ).และ สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดประชุมวิชาการ "นวัตกรรมการจัดการโรงเรียนคุณภาพต่อเนื่องสู่การประกันคุณภาพ" ผลสำเร็จและบทเรียนจากโครงการวิจัยปฏิบัติการ "โรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง" (School Quality Improvement Program : sQip) ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์ บอลรูม อิมแพ็ค ฟอรัม 4 เมืองทองธานี

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ประธานกรรมการนโยบาย สกว. และที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กสศ.ได้ กล่าวระหว่างปาฐกถาพิเศษว่า อีกประมาณ 30 ปี คนในวัยทำงานเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำให้เก่งขึ้นถึง 3 เท่าเพื่อรักษาคุณภาพชีวิตไว้ ดังนั้นการศึกษาเป็นเรื่อง Product Activity ต้องพูดถึงเรื่องงาน เนื่องจากเป้าหมายของการศึกษา เป็นเรื่องงานในชีวิต เช่น จีน สิงคโปร์ มีเรื่องของคนสูงวัยเช่นกัน แต่มีประสิทธิภาพเรื่องการทำงานอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่คนไทยส่วนใหญ่มีการศึกษา ต่ำกว่า 12ปี แย่กว่าประเทศอินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เมื่อเทียบกับอาเซียนด้วยกันเราสู้ไม่ได้

ทั้งนี้ จากข้อมูลสถิติเฉลี่ยระหว่างกลางทศวรรษ 2540-2550 ประชากรแต่ละรุ่น 9 แสนคน เทียบเป็น 10 คน พบว่า 1 ใน 10 คนไม่จบ ม.3 ออกไปเป็นแรงงานนอกระบบ ส่วนจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3 ปวช.) ออกไปเป็นแรงงานนอกระบบ นอกจากนี้ 4 ใน 10 เรียนต่ออุดมศึกษา 1 ใน 4 คนไม่จบอุดมศึกษา ออกไปเป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่ง 3 ใน 4 คนจบอุดมศึกษา โดย เด็ก 7 ใน 10 คน ออกไปเป็นแรงงานนอกระบบ มีเพียง 1 คนที่จบอุดมศึกษาได้งานทำภายในปีแรก ซึ่งเราลงทุนปีละ 5-6 แสนล้านบาทต่อปี สำหรับการศึกษาพื้นฐาน ทำให้คน 1 คนมีงานทำภายใน 1 ปี แล้วเราปล่อยคน 70 % อยู่อย่างนั้นตลอดชีวิต

“การศึกษาพื้นฐาน 12 ปี ไม่สร้างมูลค่าเพิ่มในการทำงาน ผู้ที่จบการศึกษา 6,9,12 ปี ก็ยังคงได้ค่าจ้างแรงงานเท่ากัน ทั้งนี้ใน 10 ปีที่ผ่านมากว่า 70 %ของนักเรียนพื้นฐาน พบนักเรียน10 ล้านคน ออกมาทำงานได้ค่าแรงขั้นต่ำ สำหรับการเรียนหนังสือ 12 ปี มีวุฒิ ปวช.ได้ค่าแรงสูงกว่าเรียน 12 ปี มีวุฒิการศึกษา ม.6 นอกจากนี้ กว่า 67% ของแรงงานไทยมีการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า 10% มีการศึกษามัธยมต้น 10 % มีการศึกษามัธยมปลาย (รวม ปวช.) 14% มีการศึกษาอุดมศึกษา (รวม ปวส.)ดังนั้นคุณภาพการศึกษาของไทย จะพิจารณาเฉพาะวุฒิการศึกษาไม่ได้” ดร.กฤษณพงศ์ กล่าว

นายนคร ตังคะภิภพ หัวหน้าโครงการวิจัยและปฏิบัติการโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่องหรือ sQip กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ ได้เข้าไปพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (Whole-School Approach) โดยพุ่งเป้าไปที่ความร่วมมือของทุกฝ่ายในโรงเรียน ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง นักเรียนและชุมชน โดยเริ่มจากการตั้งเป้าหมายในการจัดการโรงเรียนของแต่ละแห่งที่ชัดเจนจากทุกฝ่าย พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายบุคคล และสามารถแจ้งเตือนกรณีนักเรียนที่มีความเสี่ยงสูง ช่วยลดภาระของครูในการประมวลข้อมูลและภาระทางธุรการอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาคุณภาพของโรงเรียนในเมืองและชนบทมีความเหลื่อมล้ำกันอย่างมาก ส่งผลให้ความรู้ระหว่างนักเรียนในเมืองกับนักเรียนในชนบทของไทย ต่างกันเกือบ 2 ปี การศึกษา สกว. กสศ. และสพฐ. ได้จับมือกันร่วมวิจัยเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวมากว่า 2 ปี และใช้ดำเนินการในโรงเรียนขยายโอกาสพื้นที่ยากลำบาก 197 แห่ง 14 จังหวัด ทั่วประเทศไทย ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน ลำปาง สุโขทัย สุรินทร์ อำนาจเจริญ กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ชลบุรี สุราษฎร์ธานี และ ภูเก็ต

ด้าน นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2562 กสศ. สกว.และ สพฐ. พร้อมเดินหน้าขยายผลโรงเรียนขยายโอกาสจำนวน 280 แห่งรวม 17 จังหวัดทั่วประเทศ พัฒนาให้เป็นสถานศึกษาต้นแบบลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในมิติคุณภาพโรงเรียนและครู และนําไปสู่การพัฒนาระบบรับรองคุณภาพ (Accreditation System) ที่เหมาะสมสําหรับบริบทโรงเรียนขนาดกลาง ที่มีจํานวนนักเรียน 200-500 คน ต่อโรงเรียน ในพื้นที่ยากลําบากของประเทศไทย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการเรียนการสอน โดยร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 10 แห่งที่อยู่ใกล้เคียง พัฒนากระบวนการเรียนการสอนและหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่นควบคู่ไปด้วย

"กสศ.เตรียมได้นำเครื่องมือจัดการเรียนการสอนที่สามารถวัดทักษะการคิดวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน ซึ่งเป็นทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่เราได้พัฒนาร่วมกับองค์การความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ หรือ OECD สำเร็จแล้วมาช่วยสนับสนุนการทำงานของครูและสถานศึกษาต้นแบบกลุ่มนี้ด้วย ทั้งหมดนี้ คือรูปธรรมของการปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพการศึกษาให้กับโรงเรียนในชนบท ที่กำลังเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย" ผู้จัดการ กสศ.กล่าว

ข่าวเด่น

ข่าวทั่วไทย

ข่าวที่น่าสนใจ