THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

03 กรกฎาคม 2563 : 11:35 น.

สถ.จับมือ ดีป้า ขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชน – ท้องถิ่นมีส่วนร่วม หวังผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย และ ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง “การขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ (Smart City)” ระหว่าง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) โดยมี นายขจร ศรีชวโนทัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และนายภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ร่วมลงนามเป็นพยานในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ พร้อมด้วยผู้บริหารทั้งสองหน่วยงาน ท้องถิ่นจังหวัด ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการ ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามผ่านทางเว็บคอนเฟอเรนซ์ ที่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

นายประยูร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ในการขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ (Smart City) ตามยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี และแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ มีประสิทธิภาพ ในการบริหารจัดการเมืองอย่างยั่งยืน โดยในระยะเริ่มต้นนี้ มี อปท. นำร่อง และเป็นต้นแบบการขยายผลการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้เกิดขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 12 แห่ง ประกอบด้วย เทศบาลนครยะลา, เทศบาลนครเชียงราย, เทศบาลเมืองน่าน, เทศบาลเมืองชุมพร, เทศบาลนครเกาะสมุย, เทศบาลนครหาดใหญ่, เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี, เทศบาลนครนครสวรรค์, เทศบาลนครเชียงใหม่, เทศบาลเมืองสตูล, เทศบาลเมืองแสนสุข และเทศบาลตำบลบ้านฉาง โดยตั้งเป้าหมายในการนำระบบออนไลน์และเทคโนโลยีมาแก้ไขปัญหาของเมือง และอำนวยความสะดวกพี่น้องประชาชน ทั้งในด้านการจราจรและความปลอดภัย คุณภาพชีวิต สาธารณสุข โครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภค

“ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้ได้เห็นความสำคัญในแนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ ที่อาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐานการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเมืองมากยิ่งขึ้น เนื่องจากสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างสอดคล้องกับวิถีชีวิตปกติใหม่ (New Normal) ที่มุ่งเน้นนำเทคโนโลยีระบบออนไลน์ มาใช้ในการทำงาน (Work from home) และการบริการประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงหลีกเลี่ยงการสัมผัสกันโดยตรง ในโอกาสนี้ ขอเชิญชวน อปท. ที่มีความพร้อม นำแนวทางการพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ (Smart City) มาจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนและบริหารจัดการเมือง โดยเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขอย่างยั่งยืนต่อไป” อธิบดี สถ. กล่าว

ด้าน ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า “การพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทยให้สำเร็จได้เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ภาคเอกชน และภาคประชาชน ดังนั้นความร่วมมือในการขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ (Smart City) กับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของการผลักดันแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทยของคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ให้สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน โดยการสนับสนุนและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในแนวทางและความสำคัญ ผ่านการบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชน เพื่อสนองตอบความต้องการและบริบทที่หลากหลายของพื้นที่เป้าหมาย อีกทั้งเป็นการกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น โดยเริ่มจากการสร้างวิสัยทัศน์ให้ผู้นำเมือง การจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการให้บริการอย่างพอเพียงต่อการเสริมสร้างศักยภาพของเมือง มีระบบบริหารจัดการข้อมูลเพื่อการวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างแหล่งงานและเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตในอนาคต” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวว่า ดีป้า ถือเป็นหน่วยงานสำคัญที่มีส่วนในการส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ขับเคลื่อนให้เกิดระบบนิเวศน์ด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานกำกับดูแลสำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย จากคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยมีหน้าที่ในการรับสมัครเมืองที่สนใจขอรับพิจารณาเป็นเมืองอัจฉริยะผ่านเว็บไซต์ www.smartcitythailand.or.th ซึ่งปัจจุบันมีโครงการที่ยื่นข้อเสนอเพื่อขอรับการพิจารณาเป็น เมืองอัจฉริยะแล้ว 39 พื้นที่ มีข้อเสนอจากเทศบาลนครจำนวน 7 พื้นที่ เทศบาลเมืองจำนวน 4 พื้นที่ และเทศบาลตำบล 1 พื้นที่ รวม 12 พื้นที่เทศบาล และคาดว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะขยายจำนวนพื้นที่เขตเทศบาลในการเข้ารับการพิจารณาเป็นเมืองอัจฉริยะเพิ่มขึ้น

ข่าวเด่น

ข่าวทั่วไทย

ข่าวที่น่าสนใจ