THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

31 สิงหาคม 2563 : 19:55 น.

ประธานสภาฯเปิดนิทรรศการ

เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่รัฐสภา เกียกกาย นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานเปิดนิทรรศการ “ระบบ isee 2.0 : Edtech เพื่อพัฒนานโยบายสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา” โดยมี นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ดร.ไกรยส ภัทรวาท รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวรายงานความคืบหน้าและสรุปสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายของกสศ.

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ กล่าวว่า เรื่องโอากาสทางการศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เด็กไทยควรได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม หนึ่งในภารกิจเร่งด่วนของทุกฝ่ายขณะนี้ คือการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะในวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะกับครอบครัวของเด็กและเยาวชนที่ยากจนด้อยโอกาสกว่า 1,800,000 คน กสศ. รายงานว่าในจำนวนนี้มีนักเรียนยากจนพิเศษมากกว่าหนึ่งล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขเพิ่มขึ้นจากปีการศึกษา 2562 ถึง 300,000 คน เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้รายได้ครัวเรือนลดลงอย่างมาก ทำให้เด็กๆ เหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงจะหลุดออกนอกระบบการศึกษา

ทั้งนี้ กสศ.ในฐานะหน่วยงานตามรัฐธรรมนูญที่มีภารกิจในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาโดยตรงนอกเหนือจากให้เงินอุดหนุนแก่นักเรียนยากจนพิเศษแล้ว ได้พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือระบบ iSEE นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เป็นแหล่งข้อมูลของเด็กและเยาวชนกว่า 4,000,000 คน ที่ช่วยให้ทุกฝ่ายมองเห็นข้อเท็จจริงของสถานการณ์ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ทั้งในมิติสถานศึกษาและมิติของเด็กและเยาวชนทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษา​

“สิ่งสำคัญคือเรื่องคุณภาพของการศึกษาปัจจุบันถือว่าดีขึ้นมาก แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง ค่าครองชีพสูง รายได้ลดลงอย่างน่าตกใจ ทั้งนี้ ระบบ iSEE 2.0 ของ กสศ.จะช่วยทำให้เรามีเครื่องมือล้วงลึกไปถึงเด็กในแต่ละครัวเรือนว่าสภาพเป็นอย่างไร เพื่อการช่วยเหลือจะได้เข้าไปถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างตรงจุด ความจริงแล้ว ผมภูมิใจมากที่เคยเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันนโยบายส่งเสริมการศึกษา ส่งเสริมนโยบายให้เด็กได้ดื่มนมตามช่วงอายุ ทำให้เด็กไทยมีสัดส่วนความสูงขึ้น” ประธานสภาฯกล่าว

นายชวน กล่าวว่า ขอสนับสนุนโครงการของ กสศ. ที่ลงไปดูแลกลุ่มเด็กที่เสียโอกาสทางการศึกษาให้เขาได้มีความสมบูรณ์ขึ้น ซึ่งเราทุกคนก็มาจากโอกาสรวมถึงตนด้วยเพราะเด็กต่างจังหวัด มีโอกาสได้เรียนหนังสือ เพื่อนๆรุ่นเดียวกันเรียนเก่งกว่า แต่ที่สุดเขาก็ออกมารับจ้างกรีดยาง ล้างยาง เพราะไม่มีโอกาสได้เรียน ดังนั้น โอกาสทางการศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่จะช่วยพัฒนาตัวเอง เพื่อคนเหล่านั้นจะเป็นกำลังสำคัญของบ้านเมืองต่อไป

อย่างไรก็ตาม ระบบ iSEE จะช่วยให้สภาผู้แทนราษฎร ขับเคลื่อนวาระการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาด้วยพลังของข้อมูล ลดช่องว่างระหว่างรัฐสภาและประชาชนในพื้นที่สนับสนุนการทำงานของสมาชิก โดยเฉพาะในภารกิจเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน เช่น การมองเห็นข้อมูลนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษในพื้นที่ ตั้งแต่ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ในจำนวนนี้สามารถระบุมิติปัญหาต่างๆ อาทิ ความพิการ ทุพโภชนาการ การติดตามอัตราการมาเรียน ความเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษา ข้อมูลเหล่านี้จะมีส่วนช่วยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เป็นเสียงสะท้อนวางแผนและผลักดันนโยบายที่ช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่มล้ำทางการศึกษา ทั้งในระบบพื้นที่และระดับประเทศ

นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกสศ. กล่าวว่า การจัดนิทรรศการดังกล่าวกสศ.จัดตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค. – 3 ก.ย.เพื่อเชิญชวนท่าน ส.ส. ส.ว. ได้เข้ามาเห็นวิธีการทำงานของกสศ.ซึ่งเราใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ในชื่อว่า “ระบบ iSEE 2.0” หรือ ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ใช้ค้นหาเด็กนักเรียนยากจนว่าอยู่ที่ใดบ้าง มีจำนวนมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือ โดยนำข้อมูลมาวิเคราะห์จำแนกข้อมูลภาพรวม ทั้งระดับชาติ จังหวัด อำเภอ ตำบล

นอกจากนี้ ระบบ iSEE 2.0 ยังเป็นเครื่องมือที่จะตามดูงบประมาณที่กสศ. จัดส่งเข้าไปช่วยเหลือว่าถึงปลายทางจริงหรือไม่ และติดตามการมาเรียนของเด็กอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผลการเรียน สุขภาพอนามัย ได้รับการพัฒนาหรือไม่ เช่น จังหวัดอุบลราชธานี มีนักเรียนยากจนที่ได้รับทุน จากกสศ. จำนวน 16 % ของนักเรียนทั้งหมดในจังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น ดังนั้นเมื่อทราบสถานะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในมิตินักเรียนยากจนในพื้นที่ จะนำไปสู่การพัฒนาช่วยเหลือต่อไปในอนาคต

​“ปัจจุบันมีฐานข้อมูลของเด็กทั้งประเทศ ประมาณ 2 ล้านคนที่เป็นกลุ่มนักเรียนยากจน และ50% มีความยากจนพิเศษ คือ ยากจนมากกว่าปกติ โดยตัวเลขเด็กยากจนปี2563 สูงถึง1ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี2562 จำนวน 3 แสนคน ทั้งนี้คาดการณ์ว่าเกิดจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ต่างๆยิ่งซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มีเด็กจำนวนมากหลุดออกจากระบบการศึกษา สาเหตุสำคัญคือ ปัญหาทางเศรษฐกิจ คิดเป็น 90% เช่น ปัญหาสุขภาพ ปัญหาการไม่มีสัญชาติ ปัญหาด้านกฎหมาย ทั้งนี้มีนักเรียน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนักเรียน 95% และกลุ่มนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา 5% ซึ่งถ้าไม่มีการดูแลป้องกัน กลุ่มนักเรียน 95% จะทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาได้ จึงต้องมีวิธีการในการค้นหากลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยง ทั้งนี้ ข้อมูลนักเรียนมาจากการที่ครูทั่วประเทศกว่า 4 แสนคน เยี่ยมบ้านเก็บข้อมูลสภาพบ้านของเด็ก รายได้ การมีพื้นที่เกษตร การมีไฟฟ้า น้ำประปา พาหนะเดินทาง โดยครูจะทำการกรอกข้อมูลและรูปภาพเข้าสู่ระบบ iSEE” นายสุภกร กล่าว

ข่าวเด่น

ข่าวทั่วไทย

ข่าวที่น่าสนใจ