THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

09 มิถุนายน 2564 : 16:01 น.

สสส.พลิกวิกฤตโควิด-19 สร้างพื้นที่สีเขียวกินได้ เปลี่ยนพื้นที่รกร้าง เป็นแหล่งอาหารชุมชน นำร่อง 30 พื้นที่ควบคุมสูงสุด ใน 6 จังหวัด เน้นช่วยคนตกงาน-รายได้น้อย

นางเข็มเพชร เลนะพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาส สสส. เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สร้างผลกระทบโดยตรงกับชุมชนเมืองและสุขภาวะของประชาชน เพราะเศรษฐกิจหยุดชะงัก ทำให้มีผู้ตกงาน โดยเฉพาะในกลุ่มที่รับจ้างรายวัน ทำงานโรงงาน และผู้ด้อยโอกาสที่ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีเงินสำรอง มีหนี้นอกระบบ ทำให้กระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของครัวเรือน สสส. เห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น ได้เร่งสานพลังเครือข่ายสวนผักคนเมืองเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ริเริ่มโครงการส่งเสริมเกษตรในเมือง เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารที่ถือเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตสุขภาวะให้กับชุมชนเมือง ภายใต้ชุดโครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ ที่ สสส. สนับสนุนโครงการช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤตโควิด-19 ระบาดระลอกล่าสุด

ทั้งนี้ โครงการส่งเสริมเกษตรในเมือง เน้นสร้างพื้นที่เกษตรกรรมในเมืองให้เป็นแหล่งผลิตอาหารของชุมชน ปรับพื้นที่รกร้างหรือพื้นที่ว่างในชุมชนให้เป็นพื้นที่ปลูกผักปลอดสารพิษ ขณะนี้ได้นำร่องปรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดใน 6 จังหวัด 30 ชุมชน ได้แก่ กรุงเทพฯ 19 ชุมชน ปทุมธานี 3 ชุมชน สมุทรปราการ 3 ชุมชน สมุทรสาคร 2 ชุมชน ชลบุรี 2 ชุมชน และนนทบุรี 1 ชุมชน โดยมีทีมพี่เลี้ยงเข้าไปสอนให้ชุมชนมีทักษะการทำเกษตรพึ่งพาตัวเอง สร้างแหล่งผลิตอาหารด้วยตัวเองเพื่อลดรายจ่ายรายวัน มีพืชผักปลอดสารเคมีไว้รับประทานสร้างภูมิเป็นเกราะป้องกันโรค ขณะนี้มีคนในชุมชนเข้าร่วมเป็นแกนนำในโครงการฯ แล้วทั้งสิ้น 495 คน โดยภายในปีนี้ตั้งเป้าหมายจะขยายไปให้ถึง 1,000 คน เพื่อกระจายความมั่นคงด้านอาหารไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบในชุมชนเมืองทั่วประเทศ

ด้านน.ส.วรางคนางค์ นิ้มหัตถา ประธานสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) สนับสนุนโดย สสส. กล่าวว่า โครงการส่งเสริมเกษตรในเมือง มีแนวคิดเปลี่ยนพื้นที่รกร้างว่างเปล่าให้เป็นพื้นที่สีเขียวกินได้ โดยขั้นตอนการทำงานมีดังนี้ 1.จัดหาผู้เชียวชาญด้านเกษตรปลอดสารมาเป็นทีมพี่เลี้ยง 2.จัดการออกแบบพื้นที่ วางผังแปลงผักร่วมกับแกนนำในชุมชน 3.จัดอบรมให้ความรู้และฝึกปฏิบัติ 3 ตั้งแต่ปรับปรุงดิน เพาะต้นกล้า ขยายพันธุ์พืช ย้ายต้นกล้า ดูแลบำรุงรักษา โดยเน้นปลูกพืชผักยืนต้นอย่างน้อยร้อยละ 50 ของพื้นที่ เพราะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ต่อเนื่อง ยาวนาน ดูแลง่าย พร้อมเปิดอบรมทางเลือกอื่นๆ เช่น เพาะเห็ด เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงปลาดุก การแปรรูปผลผลิต การทำดินหมัก ปุ๋ยหมัก และ 3.จัดเก็บผลผลิตแก่ผู้ได้รับผลกระทบในชุมชน โดยส่วนหนึ่งแบ่งปันไปสู่ผู้ป่วย ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ ผู้สูงอายุ เด็ก และกลุ่มแรงงานข้ามชาติในชุมชนอีกกว่า 2,000 คน

“ความสำเร็จของโครงการฯ มาจากแกนนำอาสาสมัครจากชุมชน ที่ทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ ทำเกษตรในเมืองจากพื้นที่ว่างเปล่าให้เป็นแหล่งอาหารชุมชนได้ ยิ่งไปกว่านั้น บางชุมชนสามารถประสานสำนักงานเขต กทม. อปท. เพื่อขอสนับสนุนวัตถุดิบ เช่น ดินหมัก ปุ๋ยหมัก ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่ และที่น่าดีใจ ขณะนี้ชุมชนสามารถเก็บผลผลิตรอบแรกได้แล้วหลังจากใช้เวลาเพียงแค่ 2 เดือน ทำให้ลดความเปราะบางด้านอาหารได้แม้ต้องเผชิญภาวะวิกฤต สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามและติดตามได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ สวนผักคนเมือง” น.ส.วรางคนางค์ กล่าว

ข่าวเด่น

ข่าวทั่วไทย

ข่าวที่น่าสนใจ