THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

27 กรกฎาคม 2564 : 20:03 น.

หมอจุฬาฯเตือนดื่มแอลกอฮอล์ลดประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 เสี่ยงเม็ดเลือดขาวทำงานผิดปกติติดเชื้อง่ายปอดอักเสบรุนแรง แนะหยุดดื่ม 2-3 วันทั้งก่อน-หลังฉีดวัคซีน สสส.ชวนงดเหล้าเข้าพรรษาลดภาระบุคลากรทางการแพทย์

น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังระบาดหนักและมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน คนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คือ กลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังตัวเป็นพิเศษ โดยคาดการณ์ว่าประเทศไทยมีคนที่ดื่มทุกวันหรือเกือบทุกวันมากถึง 2 ล้านกว่าคน ในจำนวนนี้อาจเป็นผู้ติดสุรามากถึง 2 แสนกว่าคน ซึ่งกลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงและเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ เพราะฤทธิ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลต่อจิตประสาท ทำให้ความสามารถในการรู้เท่าทันการคิดและพฤติกรรมลดลง เช่น ขาดการยับยั้งชั่งใจในการทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม มีพฤติกรรมเสี่ยงจากการดื่มร่วมแก้วเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันมีหลักฐานทางวิชาการจำนวนมากยืนยันว่า ปัจจัยทางสังคม สถานที่ดื่ม และกิจกรรมบันเทิงต่างๆ สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดและแพร่เชื้อโควิด-19 ได้มากกว่าการสัมผัสร่างกายผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะพฤติกรรมเสี่ยงที่มาจากฤทธิ์น้ำมาทุกชนิด ถูกกระทำโดยที่ไม่มีสติ สัมปชัญญะ

ทั้งนี้ ในช่วงเข้าพรรษาปีนี้ยังอยู่ในช่วงการระบาดหนักของโควิด-19 สสส. อยากเชิญชวนให้ทุกคนใช้วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเป็นก้าวแรกของการลด ละ เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ดีขึ้น โดยปีนี้ สสส. จัดกิจกรรม “สื่อรักให้พักเหล้า ลดเสี่ยง เลี่ยงโควิด” ส่งเสริมให้คนไทยลด ละ เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอดชีวิต รวมถึงย้ำให้ทุกคนต้องสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง และลดพฤติกรรมเสี่ยงติดเชื้อ เพื่อช่วยลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ที่ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ รักษาผู้ป่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตโรคระบาดหนักไปด้วยกัน

ด้าน ผศ.นพ.ธีรยุทธ รุ่งนิรันดร อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะในปริมาณที่สูงจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆ ได้ง่ายกว่าคนที่ไม่ดื่ม ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อ หรือปอดบวม (pneumonia) ได้ เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถลดการทำงานของโทนกล้ามเนื้อบริเวณคอหอย ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการทำให้เชื้อลงปอด และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังทำให้การทำงานของเม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่กำจัดเชื้อโรคต่างๆ ในร่างกายแย่ลงส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นกว่าผู้ที่ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยกำลังเร่งเดินหน้าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชน ซึ่งจะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย ลดอัตราการเสียชีวิต ป้องกันอาการป่วยหนัก สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และลดการติดเชื้อได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนทุกคนควรงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 48-72 ชั่วโมง ทั้งก่อนและหลังฉีด หรือ 2 – 3 วัน เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะไปรบกวนระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย อาจทำให้หลอดเลือดหดเกร็ง เป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ ตามมาภายหลังการฉีดวัคซีนได้ รวมถึงเมื่อฉีดแล้วมีอาการไม่สบาย เป็นไข้ อาจทำให้แพทย์แยกไม่ออกว่าคนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ป่วยทั่วไปหรือเป็นผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน สำหรับกลุ่มผู้ติดสุรา ซึ่งมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกวันหรือแทบทุกวันมานานหลายปี จนไม่สามารถลดหรือเลิกดื่มได้ หากงดดื่มแล้วมีอาการมือสั่น ใจสั่น เหงื่อออก มีไข้ กระสับกระส่าย และในบางรายอาจมีอาการชักเกร็งกระตุก

ผศ.นพ.ธีรยุทธ์ แนะนำว่า คนกลุ่มนี้ไม่ควรหยุดดื่มกะทันหัน เพราะมีโอกาสสูงที่จะเกิดอาการถอนสุราตั้งแต่ระดับอ่อนไปจนถึงระดับรุนแรงได้ จึงเป็นกลุ่มที่ควรดูแลตัวเองมากเป็นพิเศษ โดยกลุ่มผู้ติดสุรา ควรค่อยๆ ลดการดื่มในช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อนวันนัดรับวัคซีนโควิด-19 หรือควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาช่วยลดอาการถอนสุรา ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ผู้ที่ติดสุรา จะช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 และลดความรุนแรงเมื่อติดเชื้อได้ แต่อย่างไรก็ตาม ควรปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัดและหยุดดื่มตลอดช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยผู้ที่ต้องการเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดต่างๆ ตลอดชีวิต สามารถขอรับคำปรึกษาได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ แฟนเพจเฟซบุ๊ก : ศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด Alcohol and Drugs Helpline Centre สายด่วนเลิกเหล้า 1413 และเว็บไซต์ http://www.1413.in.th/

ข่าวเด่น

ข่าวทั่วไทย

ข่าวที่น่าสนใจ