THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

13 กุมภาพันธ์ 2565 : 14:22 น.

โฆษกกระทรวงดีอีเอส เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม 2 แบงก์ใหญ่ปล่อยสินเชื่อประชาชนผ่านเอสเอ็มเอส และให้สิทธิ์คนติดแบล็กลิสต์ หลังพบขึ้นแท่นข่าวที่มีผู้สนใจมากสุด 10 อันดับแรกประจำสัปดาห์

เมื่อวันที่  13 ก.พ.นพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า สรุปผลการมอนิเตอร์ และรับแจ้งข่าวปลอมประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 4-10 ก.พ. 65 พบข้อมูลเชิงลึก (Insight) ว่า ข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจมากสุด 10 อันดับแรก หลายข่าวเป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในชีวิตประจำวัน ทั้งเรื่องแบงก์ใหญ่เปิดสินเชื่อประชาชนรายย่อยแบบง่ายๆ จนไม่ควรหลงเชื่อ หรือโครงการเราชนะเฟส 4 จะแจกเงินเพิ่ม เป็นต้น

โดยข้อมูลจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พบว่าข่าวที่มีคนสนใจสูงสุด 10 อันดับแรก ประกอบด้วย

1.ออมสิน ส่ง SMS ให้ประชาชนกดรับสิทธิ์ขอสินเชื่อ GSB จำนวน 60,000 บาท

2.วันที่ 10-20 ก.พ. 65 ฝนตกหนักทุกภาค ทั่วประเทศไทย

3.รักษาโควิด 19 ด้วยสมุนไพรขมิ้นชัน กระชาย พริกไทย ทับทิม

4. คนไทยจ่ายเงินซื้อน้ำมันราคาแพงที่สุดในโลก

5. ดื่มน้ำต้มต้นไมยราบ แทนน้ำเปล่า ช่วยรักษาโรคมะเร็งเต้านม

6. โครงการเราชนะ เฟส 4 แจกเงินคนละ 7,000 บาท เริ่มโอน 10 ก.พ. 65

7. คลิปข้าวสารถูกผลิตจากถุงพลาสติก

8. ธ.กรุงไทย เปิดสินเชื่อกรุงไทยเพื่อนักสู้ ดอกเบี้ย 0.5% ผ่อนนาน 48 เดือน ติดแบล็กลิสต์ก็กู้ได้

9. ใช้หม้อทอดไร้น้ำมันปรุงอาหาร ทำให้ก่อมะเร็ง

10. ติดเชื้อไวรัส Parabola จากสุนัขและแมว ทำให้ไขกระดูกไม่สร้างเลือด

“อยากเตือนประชาชน ถ้าได้รับข้อความสั้น (SMS) ในลักษณะเชิญชวนให้คลิกลิงก์กลับ แม้จะบอกว่าเป็นเอสเอ็มเอสจากธนาคาร แต่อย่าหลงเชื่อรีบร้อนคลิก ควรตรวจสอบความถูกต้องจากธนาคารก่อนทุกครั้ง เพราะหลายครั้งเมื่อเราได้รับแจ้งเบาะแส และประสานงานตรวจสอบกับทางธนาคารที่ถูกอ้างชื่อ ก็พบว่าธนาคารไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งข้อความลักษณะดังกล่าวแต่ประการใด” น.ส.นพวรรณกล่าว

สำหรับรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พบข้อความที่เข้ามาทั้งสิ้น 11,468,906 ข้อความ โดยจากการคัดกรองมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) จำนวน 208 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 99 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นเรื่องโควิด 22 เรื่อง

ทั้งนี้ กระทรวงฯ และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ต้องขอความร่วมมือประชาชนอย่างต่อเนื่อง เมื่อได้รับข้อมูลผ่านโซเชียล อย่าเพิ่งหลงเชื่อในทันที ขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูล โดยสามารถแจ้งข้อมูลมายังศูนย์ฯ เพื่อช่วยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบ และยืนยันข้อเท็จจริงต่อไป และสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ได้ผ่านช่องทางต่างๆ ดังนี้ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/  ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand  และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87

ข่าวเด่น

ข่าวทั่วไทย

ข่าวที่น่าสนใจ