WORLD NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

24 ตุลาคม 2561 : 18:00 น.

เพชรประดับมงกุฎอังกฤษที่ได้มาจากอินเดีย และชาวอินเดียพยายามทวงคืน แต่มันจะเป็นไปได้หรือ?

โคตรเพชร “โคอินูร์” อัญมณีที่มีค่ามหาศาล มีความเก่าแก่ และมีชื่อเสียงที่สุดเม็ดหนึ่งของโลก แปลว่า "ภูเขาแห่งแสง" ในภาษาเปอร์เซีย มีประวัติที่มาหลายแบบ บ้างว่าเป็นสมบัติตกทอดมานานมากตั้งแต่ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล แต่ที่เชื่อถือกันอย่างกว้างขวางจริงๆ คือแร่ล้ำค่าก้อนใหญ่ได้ขุดพบในเหมืองคอลเลอร์ ในพื้นที่ของรัฐอันตรประเทศ ประเทศอินเดียในปัจจุบัน ช่วงสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 13 ซึ่งตรงกับราชวงศ์กากติยะในอินเดียตอนใต้ จากนั้นอัญมณีก้อนโตซึ่งแรกเริ่มหนักถึง 793 กะรัต สมัยที่ยังไม่ผ่านการเจียระไน ก็ผ่านมือของผู้ปกครองจากอาณาจักรต่างๆ ของอินเดียคนแล้วคนเล่า

กระทั่งเมื่อชาห์นาเดอร์แห่งเปอร์เซียเข้ายึดครองอินเดียในปี 1739 โคอินูร์ก็เปลี่ยนมาอยู่ในมือของอาณาจักรที่กลายเป็นอิหร่านในปัจจุบัน และเป็นจุดกำเนิดของชื่อเสียงเรียงนามของเพชรเม็ดนี้ด้วย เกือบร้อยปีต่อมา ในปี 1813 โคตรเพชรก็เปลี่ยนเจ้าของมาเป็น มหาราชารันจิต สิงห์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งอาณาจักรซิกข์

ทว่า หลังจากรันจิต สิงห์สวรรคตในปี 1839 เพชรดังกล่าวกลับกลายเป็นทรัพย์สินของบริษัทเอกชน East India Company ประกอบกับเวลานั้นอินเดียตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ โคอินูร์จึงได้รับการตีตราให้เป็นเครื่องราชบรรณาการแก่ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ของอังกฤษในเวลานั้นในปี 1850

โคอินูร์ ได้รับการเจียระไนอย่างเต็มขั้น หลังจากอยู่ในการครอบครองของอังกฤษตั้งแต่ 2 ปีแรก โดยพระราชดำริของ เจ้าชายอัลเบิร์ต พระสวามีของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย จากน้ำหนักเพชร 186 กะรัต เหลืออยู่เพียง 105.602 กะรัต โดยช่างเพชรฝีมือดี ณ เวลานั้น

โคอินูร์กลายเป็นเข็มกลัดเพชรส่วนพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เมื่อเสด็จสวรรคต เพชรก็ถูกย้ายนำไปประดับมงกุฎของสมเด็จพระราชินีอเล็กซานดรา มงกุฎของสมเด็จพระราชินีนาถแมรี และมงกุฎของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ทาวเวอร์ออฟลอนดอนนับตั้งแต่พระองค์สวรรคตจนถึงปัจจุบัน

นอกจากอินเดีย ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน ก็ยังอ้างความเป็นเจ้าของโคอินูร์ด้วย ซึ่งเป็นที่มาของการถกเถียงที่ไม่มีที่สิ้นสุด เนื่องจากต่างก็อ้างอิงประวัติศาสตร์ความเกี่ยวข้องกับอัญมณีด้วย

ขณะที่ฝั่งอังกฤษยังไม่แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ แต่ที่ผ่านมา อังกฤษก็มีจุดยืนไม่คืนทรัพย์สินล้ำค่านี้มาโดยตลอด โดยในปี 1976 ได้ปฏิเสธด้วยอ้างการตกลงส่งมอบที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาสันติภาพแองโกล-ซิกข์ ในช่วงที่เข้ายึดครองราชอาณาจักรปัญจาบ ซึ่งปัจจุบันคือพื้นที่ปากีสถานและอินเดีย

ส่วนปี 2010 อดีตนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ก็ได้ตอบสัมภาษณ์สื่อท้องถิ่นอินเดียว่า เพชรจะเป็นของอังกฤษต่อไป เพราะ “ถ้าผมยอมให้คำร้องขอคืนหนึ่ง ไม่นานพิพิธภัณฑ์อังกฤษคงไม่เหลือสมบัติอะไรเลย”

ต่อมาเมื่อปี 2016 ชาวอินเดียจำนวนมากไม่พอใจที่ตัวแทนของรัฐบาลออกปากว่า จะไม่ทวงเพชรก้อนนี้ที่อยู่ในการครอบครองของอังกฤษกลับมาเป็นของอินเดียอีกครั้ง หลังจากที่ผ่านมา มีความพยายามและการเรียกร้องทั้งทางการและประชาชนในการช่วงชิงสมบัติล้ำค่าชิ้นนี้กลับคืนสู่ประเทศมาโดยตลอด

โดยฝ่ายรัฐบาลชี้แจงเหตุผลว่า โคตรเพชรดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่กษัตริย์ รันจิต สิงห์ แห่งจักรวรรดิซิกข์ ผู้เป็นเจ้าของเพชรในเวลานั้นซึ่งมอบให้ผู้ปกครองอังกฤษเอง ไม่ใช่การลักขโมยหรือการบังคับช่วงชิงไป จึงไม่มีเหตุให้ต้องมีการนำกลับมา โดยปัจจุบันเพชรเม็ดนี้ประดับอยู่บนมงกุฎของ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งเก็บรักษาในหอมณี ในปราสาททาวเวอร์ออฟลอนดอน

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่สำนักงานอัยการสูงสุดไม่ส่งฟ้อง ก่อให้เกิดกระแสขุ่นข้องหมองใจมากขึ้นในหมู่ประชาชนที่ต้องการทวงสมบัติของชาติ จนกลายเป็นความไม่พอใจอย่างรุนแรง ทำให้กระทรวงวัฒนธรรมของอินเดียต้องออกมาตื่นตัวรับลูกกระแสดังกล่าว พร้อมแก้ข่าวที่เคยระบุว่าประเทศอินเดียจะใช้วิธีละมุนละม่อมทุกทางเพื่อนำเพชรโคอินูร์กลับคืนมาให้ได้ และอ้างว่าที่อัยการไม่รับฟ้องก่อนหน้านี้เพราะเจ้าตัวไม่มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์มากพอ ประกอบกับมีการอ้างอิงความเห็นของผู้พิจารณาคดีก่อนหน้านั้นที่ตัดสินให้อัญมณีดังกล่าวเป็นของกำนัล ทำให้อัยการกล่าวว่าโคอินูร์เป็นของกำนัลที่อินเดียมอบให้อังกฤษเองไม่ควรที่จะทวงคืน

ข่าวเด่น

The 1 Insight เผยกลยุทธ์มัดใจ Silver Spenders วัยเก๋าพร้อมเปย์ ชี้ทางรอดแบรนด์ยุค Complete Aged Society พร้อมเทรนด์เด่น Self-Indulgence & Health Enthusiast

The 1 Insight เผยกลยุทธ์มัดใจ Silver Spenders วัยเก๋าพร้อมเปย์ ชี้ทางรอดแบรนด์ยุค Complete Aged Society พร้อมเทรนด์เด่น Self-Indulgence & Health Enthusiast

LH Bank สนับสนุนสินเชื่อจำนวน 1,950 ล้านบาท ให้แก่กลุ่มบริษัท ที ที เอส พลาสติก

นายฉี ชิง-ฟู่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (LH Bank) (ที่ 3 จากขวา) ร่วมลงนามให้การสนับสนุนสินเชื่อจำนวน 1,950 ล้านบาท แก่กลุ่มบริษัท ที ที เอส พลาสติก

ข่าวที่น่าสนใจ