SPONSORED CONTENT

Sponsored content

โดย จารุณี นาคสกุล

แม้สิงคโปร์จะเป็นประเทศเล็กๆ มีทรัพยากรคือดินและน้ำอยู่อย่างจำกัด แต่ชาวสิงคโปร์กลับหันมาให้ความสนใจกับการปลูกผักรับประทานกันเองมากขึ้น โดยมีโครงการสนับสนุนการปลูกผักทั่วประเทศจากรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2005 จนถึงปัจจุบันมีชุมชนต่างๆ รวมตัวกันปลูกผักแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 กลุ่ม สวนผักเหล่านี้จึงกลายเป็นความหวังของชาวสิงคโปร์ที่จะผลิตอาหารปลอดสารพิษรับประทานกันเอง ไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากแถบประเทศเพื่อนบ้าน

จากวันนั้นถึงวันนี้ผ่านไปราว 14 ปี สวนผักเหล่านั้นได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มผลผลิตและลดพื้นที่เพาะปลูก รวมทั้งลดการใช้น้ำซึ่งเป็นทรัพยากรอันมีค่าของประเทศเพื่อนบ้านเราแห่งนี้ ที่สำคัญคือจากแปลงผักในชุมชนชานเมืองก็เริ่มขยับเข้าสู่ใจกลางเมืองจนกลายเป็น urban farming หรือการทำฟาร์มผักในเมือง เพื่อลดการขนส่งซึ่งถือเป็นการลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปในตัว และเหนืออื่นใดคือเกษตรกรบางรายเริ่มหันมาใช้พื้นที่ดาดฟ้าของอาคารจอดรถเป็นฟาร์มผักกันมากขึ้น ถือเป็นการบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างมือประสิทธิภาพสำหรับประเทศที่มีพื้นที่น้อย

หนึ่งในนั้นคือ Citiponics Farm ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ 1,800 ตร.ม. ของดาดฟ้าอาคารจอดรถในย่านอังมอเกียว หนึ่งในย่านที่มีประชากรหนาแน่นของสิงคโปร์ ฟาร์มดาดฟ้าแห่งนี้เพิ่งจะลงมือเพาะปลูกเมื่อเดือนที่แล้ว และในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าก็จะผลิตผักใบเขียวได้ราว 4 ตันต่อเดือน เพียงพอเลี้ยงคนประมาณ 1,600 คน

ฟาร์มคนเมืองแห่งนี้ใช้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดด้วยการสร้างแปลงผักแนวตั้งสูงประมาณ 1.8 ม. โดยใช้ระบบพิเศษที่เรียกว่า Aqua Organic System (ระบบน้ำออร์แกนิค) ซึ่งที่ฐานของแต่ละแปลงจะมีแท็งก์ใส่น้ำสารอาหารของพืชเพื่อปั๊มส่งขึ้นไปตามท่อที่เชื่อมต่อกัน แล้วปล่อยให้น้ำไหลลงมายังท่อใส่ผักที่เรียงซิกแซกสลับกันทั้ง 7 ชั้น โดยน้ำสารอาหารที่เหลือก็ยังนำกลับมาใช้ซ้ำอีก จนแทบจะไม่มีการทิ้งของเสียใดๆ ให้เป็นภาระของโลก ทั้งยังปลอดภัยสำหรับทั้งคนปลูกและคนกินเนื่องจากไม่มียาฆ่าแมลงเลย

ระบบ Aqua Organic System ถูกคิดค้นและพัฒนาโดย เตียวฮวาก็อก เจ้าของ Citiponics Farm วัย 57 ปี ที่อยู่ในวงการที่เกี่ยวข้องกับการทำการเกษตรมายาวนาน แต่เขาไม่ได้เริ่มจากการเป็นเกษตรกร เตียวฮวาก็อก เป็นชาวมาเลย์ที่ย้ายมาอยู่ที่สิงคโปร์เมื่อ 32 ปีที่แล้วเพื่อทำงานในบริษัทขายยาฆ่าแมลง 6 ปีจากนั้นก็ลาออกมาเปิดร้านขายส่วนประกอบที่ใช้ผลิตยาฆ่าแมลงของตัวเอง แต่ยิ่งได้เห็นการใช้ยาฆ่าแมลงแบบผิดๆ ของเกษตรกรหลายๆ ครั้ง ก็ทำให้เขาตัดสินใจหันมาทำฟาร์มออร์แกนิคทันที เพราะรู้สึกไม่สบายใจที่สินค้าที่ตัวเองขายส่งผลกระทบกับสุขภาพผู้บริโภค

ปี 2001 เตียวฮวาก็อก ลงทุนกลับไปปลูกผักผักออร์แกนิคที่มาเลเซีย แต่สุดท้ายก็ต้องยอมแพ้ในอีก 2 ปีต่อมา เนื่องจากตอนนั้นผู้บริโภคยังไม่พร้อมจ่ายแพงกว่าเพื่อซื้อผักปลอดสารพิษ จนเมื่อ 9 ปีที่แล้ว เตียวฮวาก็อก ตัดสินใจลองปลูกผักออร์แกนิคอีกครั้ง ครั้งนี้ เตียวฮวาก็อก กลับมาในจังหวะเวลาที่ผู้บริโภคหันมาใส่ใจกับการเลือกรับประทานผักปลอดสารพิษกันในวงกว้าง จนปัจจุบันนี้ระบบ Aqua Organic System ดังไปไกลถึงมาเลเซียและจีนแล้ว

นอกจากนี้ ฟาร์มดาดฟ้าแห่งนี้ยังเอื้อเฟื้อต่อชุมชนรอบข้าง โดยการจ้างงานให้ผู้สูงอายุเข้าไปทำงานในแปลงผัก และยังเปิดรับนักศึกษาเข้ามาฝึกงานหรือทำงานอาสาสมัครเพื่อบ่มเพาะทักษะการทำฟาร์มคนเมืองและปลูกฝังความสนใจด้านเทคโนโลยีสีเขียวให้กับคนรุ่นใหม่

นับเป็นการพลิกโฉมการทำการเกษตรผ่านการบริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และน่าจะเป็นแบบอย่างให้คนกรุงอย่างเราๆ โดยเฉพาะชาวคอนโดที่มีพื้นที่จำกัดลุกขึ้นมาปลูกผักกินกันเองบ้าง 

ภาพ : www.citiponics.com

ข่าวเด่น

The 1 Insight เผยกลยุทธ์มัดใจ Silver Spenders วัยเก๋าพร้อมเปย์ ชี้ทางรอดแบรนด์ยุค Complete Aged Society พร้อมเทรนด์เด่น Self-Indulgence & Health Enthusiast

The 1 Insight เผยกลยุทธ์มัดใจ Silver Spenders วัยเก๋าพร้อมเปย์ ชี้ทางรอดแบรนด์ยุค Complete Aged Society พร้อมเทรนด์เด่น Self-Indulgence & Health Enthusiast

LH Bank สนับสนุนสินเชื่อจำนวน 1,950 ล้านบาท ให้แก่กลุ่มบริษัท ที ที เอส พลาสติก

นายฉี ชิง-ฟู่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (LH Bank) (ที่ 3 จากขวา) ร่วมลงนามให้การสนับสนุนสินเชื่อจำนวน 1,950 ล้านบาท แก่กลุ่มบริษัท ที ที เอส พลาสติก

ข่าวที่น่าสนใจ