NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

17 กันยายน 2562 : 09:25 น.

.

ทราบไหมครับว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครเป็นเมืองสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว เพราะเรามีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 1 ล้านคน หรือประมาณ 18.9% ซึ่งถือว่ามากครับ และน่าเป็นห่วง ถ้าเราไม่เตรียมพร้อมในการรับมือและพัฒนาเมืองเพื่อดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถดูแลและพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด

ส่วนกลุ่มของผู้สูงอายุก็แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทครับ ได้แก่ 1.กลุ่มติดสังคม คือ ผู้สูงอายุที่ยังช่วยเหลือตัวเองและสังคมได้ มีการทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวมอย่างต่อเนื่อง 2.กลุ่มติดบ้าน คือ ช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง แต่ก็มีปัญหาด้านสุขภาพ ทำให้ไม่ค่อยอยากออกไปพบปะสังสรรค์หรือทำกิจกรรมนอกบ้าน เพราะกลัวเป็นภาระลูกหลาน กลุ่มนี้ถ้าปล่อยไว้ไม่ดูแล อาจกลายเป็นกลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มสุดท้ายได้ครับ คือ กลุ่มที่ 3 กลุ่มติดเตียง ที่ป่วยและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาลูกหลาน และมีสภาวะอารมณ์เปราะบาง ซึ่งน่าห่วงครับ

การดูแลผู้สูงอายุจำนวนมากให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นนโยบายที่ผมให้ความสำคัญมาโดยตลอด และต้อง NOW ครับ จนได้มีการประกาศใช้แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2561 – 2565) เพื่อเป็นแผนแม่บทให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการการพัฒนาคุณภาพชีวิตร่วมกันอย่างมีทิศทาง และจัดทำบริการต่าง ๆ ให้แก่ผู้สูงอายุครอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคมและสภาพแวดล้อม

ที่กทม.ดำเนินการแล้วก็เช่น การยกระดับการให้บริการด้านนันทนาการของ ศูนย์เยาวชนและศูนย์กีฬาของกรุงเทพมหานคร 36 แห่ง ให้เป็น “ศูนย์สร้างสุขทุกวัย” เพื่อให้คนทุกวัย ทั้งวัยเด็กและเยาวชน วัยทำงาน และวัยสูงอายุ ได้ใช้พื้นที่ร่วมกัน มีการทำกิจกรรมที่จะช่วยเสริมสร้างและพัฒนาร่างกายและจิตใจให้สมบูรณ์ แข็งแรง การจัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานธนาคารสมองของกรุงเทพมหานคร” เพื่อเป็นศูนย์กลางประสานเครือข่ายระหว่างหน่วยงานและภูมิปัญญาผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร 50 เขต มีการนำความรู้และประสบการณ์ของผู้สูงอายุมาสร้างประโยชน์เพื่อส่วนรวม และรวมตัวกันแสดงผลงานภูมิปัญญาเพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้สูงอายุคนอื่นๆ

ไม่เท่านั้นยังมี โครงการ “Bangkok Special Care” การดูแลผู้สูงอายุเป็นพิเศษ ด้วยการเพิ่มความสะดวกรวดเร็ว และความใส่ใจในการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข สันทนาการ บริการที่สำนักงานเขต การเพิ่มพูนความรู้และทักษะอาชีพ และการเดินทางด้วยรถตู้วีลแชร์ และการผลักดันการก่อสร้าง “โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน” ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อเป็นศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุที่ดูแลเฉพาะด้านแก่ผู้สูงอายุแบบครบวงจรเป็นแห่งแรกในเอเชีย

นอกจากนี้ กทม. ยังได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขยายการคัดกรอง และส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างครอบคลุม ทั่วถึงเรื่องสุขภาพผู้สูงวัย รวมถึงโครงการ 1 ชุมชน 1 ศูนย์ผู้สูงอายุ ซึ่งได้สร้างต้นแบบไว้ที่บ้านศูนย์วัยศิริเกษมรวมใจราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และกทม. ยังได้ร่วมกับจังหวัดฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น พัฒนาชุมชนต้นแบบที่พร้อมดูแลผู้สูงอายุระยะยาวเชิงป้องกัน ในโครงการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวเชิงป้องกันในกรุงเทพมหานคร (PLC) ด้วยการถ่ายทอดความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ ในการดูแลให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีจนถึงช่วงปลายของชีวิต ซึ่งได้เริ่มทำในชุมชน นำร่อง ชุมชนจากพื้นที่ดูแลของศูนย์บริการสาธารณสุข 4 ดินแดง และศูนย์บริการสาธารณสุข 56 ทับเจริญ และกำลังขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ ต่อไปครับ

โชคดีที่ปัจจุบันนี้ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีแนวโน้มใช้สื่อสังคมออนไลน์มากขึ้นครับ ทำให้การสื่อสารข้อมูลต่างๆ ส่งไปยังผู้สูงอายุทำได้เร็วขึ้น นอกเหนือจากการรับทราบข่าวสารจากตัวแทนชุมชน ซึ่งกทม.ก็มีการได้แจ้งช่าวสารผ่านทางช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชั่นกทม. Connect หรือ “BKK Connect” และยังมีเฟซบุ๊ค Bangkok Enjoy Aging อาวุโส โก้เก๋า แจ้งข่าวสารที่เป็นประโยชน์ รวมถึงกิจกรรม และบริการต่างๆ เพื่อผู้สูงอายุแบบครบวงจรอีกด้วย

ผู้สูงอายุอย่างเรา ซึ่งผมหมายรวมถึงตัวผมเองด้วย ก็ต้องปรับตัวเองให้กระฉับกระเฉงและมีความสุข เพื่อที่เราจะได้ดูแลตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่นโดยไม่จำเป็น คนที่ยังไม่สูงวัยก็มาร่วมได้นะครับ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมตัวเอง หรือเป็นความรู้เพื่อดูแลผู้สูงอายุในบ้านของท่านครับ

กองบรรณาธิการ M2F

ข่าวเด่น

The 1 Insight เผยกลยุทธ์มัดใจ Silver Spenders วัยเก๋าพร้อมเปย์ ชี้ทางรอดแบรนด์ยุค Complete Aged Society พร้อมเทรนด์เด่น Self-Indulgence & Health Enthusiast

The 1 Insight เผยกลยุทธ์มัดใจ Silver Spenders วัยเก๋าพร้อมเปย์ ชี้ทางรอดแบรนด์ยุค Complete Aged Society พร้อมเทรนด์เด่น Self-Indulgence & Health Enthusiast

LH Bank สนับสนุนสินเชื่อจำนวน 1,950 ล้านบาท ให้แก่กลุ่มบริษัท ที ที เอส พลาสติก

นายฉี ชิง-ฟู่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (LH Bank) (ที่ 3 จากขวา) ร่วมลงนามให้การสนับสนุนสินเชื่อจำนวน 1,950 ล้านบาท แก่กลุ่มบริษัท ที ที เอส พลาสติก

ข่าวที่น่าสนใจ