THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

11 มีนาคม 2565 : 14:17 น.

ขอนแก่น- รมว.มหาดไทยมอบนโยบายให้ผู้ว่าฯ นายอำเภอ 20 จังหวัดภาคอีสานย้ำฝากความหวังทีมปฏิบัติการในพื้นที่ติดตามขับเคลื่อนแก้ปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนให้ประชาชนทุกมิติ

เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นประธานเปิดและมอบนโยบายแนวทางขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในระดับพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วยประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด พัฒนาการจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด และนายอำเภอ ร่วมรับฟัง และถ่ายทอดสดผ่านระบบ DOPA Channel ไปยังทุกจังหวัด/อำเภอทั่วประเทศ โดยมี ปลัดอำเภอ พัฒนาการอำเภอ สาธารณสุขอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมรับฟัง

พล.อ.อนุพงษ์  กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับพี่น้องประชาชน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะประเทศของเรายังมีคนที่อ่อนด้อยในสังคม ที่อาจเรียกว่ากลุ่มอ่อนด้อย กลุ่มเปราะบาง เป็นต้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงแค่มิติด้านเศรษฐกิจ แต่หมายความรวมถึงความเดือดร้อนด้านต่าง ๆ ที่ประชาชนไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง มีเจตนาเพื่อให้ทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เป็นที่มาของการขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) มีเป้าหมายสำคัญ คือ “การแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน” หรือ “การตัดเสื้อให้พอดีตัว” ด้วยเป้าเดียวกันจากข้อมูลในระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform) หรือ TPMAP

ทั้งนี้ มีแนวทางการแก้ปัญหา 5 ด้าน หรือ “5 เมนูแก้จน” ได้แก่ 1) สุขภาพ 2) ความเป็นอยู่ 3) การศึกษา 4) ด้านรายได้ 5) การเข้าถึงบริการภาครัฐ โดยกลไกตั้งแต่ระดับนโยบายถึงระดับปฏิบัติในพื้นที่ ได้แก่ ระดับจังหวัด ผ่านศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัด (ศจพ.จ.) ระดับอำเภอ ผ่านศูนย์อำนวยการปฏิบัติการฯ อำเภอ (ศจพ.อ.) และระดับปฏิบัติการ ผ่านทีมปฏิบัติการฯ ในระดับพื้นที่ (ทีมตำบล) โดยมี “ทีมพี่เลี้ยง” ลงพื้นที่เข้าไปรับทราบปัญหา วิเคราะห์ และหาแนวทางการแก้ไขชั้นต้น ตามหลัก 4 ท คือ ทัศนคติ ทักษะ ทรัพยากร และทางออก รวบรวมและสรุปสภาพปัญหารายงานไปยังทีมตำบล และ ศจพ.อำเภอ เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหา และลงไปแก้ปัญหาความเดือดร้อน พร้อมต้องติดตามการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องในลักษณะ Intensive care ด้วยการมีส่วนร่วมของครัวเรือนว่าอยากทำอะไร ไม่ใช่เป็นการไปบังคับให้ทำ เมื่อพี่น้องประชาชนครัวเรือนเป้าหมายร่วมคิด ร่วมทำ โดยภาครัฐร่วมสนับสนุน แม้ว่าผลอาจจะไม่สมบูรณ์ 100% แต่ก็ทำให้ครัวเรือนได้ทราบแนวทางและวิธีการที่จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งต้องบันทึกข้อมูลใน Logbook ทุกครั้งที่ได้ให้ความช่วยเหลือและพัฒนา เพื่อจะได้มีข้อมูล (Big Data) ในการวิเคราะห์ภาพรวมสภาพปัญหาและแนวทางแก้ไขในอนาคตให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

ด้าน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กลไกที่สำคัญตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 7,849 แห่ง จัดตั้ง “ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เป็นศูนย์กลางให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้อย่างถูกจุด ถูกเป้า และรวดเร็วที่สุด ต้องติดป้ายและเบอร์ติดต่อที่บริเวณรั้ว หรือด้านหน้าที่ตั้งของที่ทำการให้ชัดเจน รวมทั้งจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการร่วมในการช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” อย่างน้อยอำเภอละ 1 แห่ง ซึ่งทั้ง 2 ศูนย์ฯ จะทำหน้าที่สำรวจ รวบรวมความเดือดร้อน และประชุมหารือในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนตามอำนาจหน้าที่ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือ/แก้ไขปัญหา รวมถึงการขับเคลื่อนแนวทางพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนกลุ่มเป้าหมายอีกด้วย

“ขอฝากความหวังไว้ที่คนมหาดไทยทุกคนในวาระ 130 ปีกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งขอให้ร่วมกันเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ใน 2 เรื่อง คือ 1) สำรวจข้อมูลคนไม่มีที่อยู่อาศัย และช่วยกันสร้าง ซ่อม ทำ ให้ทุกครัวเรือนในพื้นที่มีที่อยู่อาศัย โดยนายกเหล่ากาชาดและผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นแม่งานสำคัญ และ 2) สำรวจผู้พิการ ผู้สูงอายุ จำเป็นต้องใช้รถเข็นวีลแชร์ เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสออกมานอกบ้านใช้ชีวิตประจำวันได้ และหากพื้นที่ใดมีผู้เดือดร้อนเกินกำลังที่จะระดมสรรพกำลังในการดำเนินงาน ให้ประสานไปยังสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เพื่อระดมสรรพกำลังจากส่วนกลาง และขอให้ทุกคนได้ช่วยกันทำให้พี่น้องประชาชนพ้นจากความทุกข์ยากลำบาก และเข้าถึงบริการภาครัฐทุกเรื่อง ให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนคนไทยดีขึ้นอย่างยั่งยืน"ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าว

ข่าวเด่น

ข่าวในประเทศ

ข่าวที่น่าสนใจ