THAI NEWS

07 มิถุนายน 2565 : 20:32 น.

เปิดคำวินิจฉัยศาลฎีกาพิพากษายืนยกฟ้องคดีมหากาพย์หวย 30 ล้าน คดีครูปรีชายื่นฟ้องลุงจรูญ ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ และรับของโจร

ภายหลังจากศาลจังหวัดกาญจนบุรี อ่านคำพิพากษาคดีที่ นายปรีชา ใคร่ครวญ หรือครูปรีชา เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ร.ต.ท.จรูญ วิมูล หรือลุงจรูญ เป็นจำเลย ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ และรับของโจร กรณีที่ ครูปรีชา อ้างว่าเป็นเจ้าของสลากกินแบ่งรัฐบาลรางวัลที่ 1 งวดประจำวันที่ 1 พ.ย.2560 หมายเลข 533726 หรือหวย 30 ล้าน แต่ หมวดจรูญ กลับมาอ้างเป็นเจ้าของตัวจริง 

คดีนี้ศาลจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง ต่อมา ครูปรีชา ยื่นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และ ครูปรีชา ยื่นฎีกา 

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ครูปรีชา โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนยกฟ้อง 

สำหรับประเด็นที่ศาลวินิจฉัยมีรายละเอียดดังนี้ “ศาลเห็นว่าแม้โจทก์มีพยานบุคคลหลายปากมาเบิกความยืนยันและสนับสนุนถึงเหตุการณ์ที่โจทก์ไปรับสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดที่ถูกรางวัลที่หนึ่งที่ตลาดเรดซิตี้ ในวันที่ 31 ตุลาคม 2560 สอดคล้องต้องกันก็ตาม แต่คำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวขัดต่อสภาพความเป็นจริงของเหตุการณ์ที่ควรจะเป็นอย่างเห็นได้ชัดและเป็นพิรุธดังได้วินิจฉัยมา  

ประกอบกับได้ความว่าโจทก์เดินทางไปตลาดเรดชิตี้และกระทำกิจกรรมลักษณะเดียวกันในตลาดบ่อยครั้งและพยานโจทก์ส่วนมากมาเบิกความต่อศาลหลังเกิดเหตุแล้วเป็นเวลานานอาจเป็นเหตุให้พยานโจทก์สับสนเกี่ยวกับวันที่พบเห็นพูดคุยกับโจทก์และจดจำเหตุการณ์คลาดเคลื่อนไปก็เป็นได้  

นอกจากนี้ยังได้ความจากร้อยตำรวจเอกจิรยุทธ์ ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พลตำรวจตรีสุทธิ พวงพิกุล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกาญจนบุรี เรียกสำนวนการสอบสวนคดีเรื่องนี้ไปตรวจหลายครั้งและบอกร้อยตำรวจเอกจิรยุทธ์ว่า เกลาให้มันกลม เพื่อให้คำให้การของพยานบุคคลสอดคล้องเป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด  

หลังจากนั้นโจทก์ นางสาวรัตนาพรและนางสาวพัชริดาก็มาขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำให้การอีกหลายครั้งเพื่อให้ข้อเท็จจริงสอดคล้องกัน นับเป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้พยานบุคคลของโจทก์มาเบิกความในชั้นพิจารณาได้สอดคล้องต้องกัน พยานบุคคลของโจทก์จึงไม่อาจรับฟังเป็นความจริงได้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์กับนางสาวรัตนาพรซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลทางแอปพลิเคชั่นไลน์  

เมื่อนางสาวรัตนาพรได้กำหนด หมาย และทำการคัดเลือกสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดที่ถูกรางวัลที่หนึ่ง ซึ่งลงท้ายด้วยเลข 26 แยกมาจากสลากกินแบ่งรัฐบาลฉบับอื่นแล้ว เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 460 สัญญาซื้อขายเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ตามมาตรา 453 กรรมสิทธิ์ในสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดที่ถูกรางวัลที่หนึ่งตกเป็นของโจทก์ตามมาตรา 458 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องนั้น  

เห็นว่า สัญญาเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาทำคำเสนอและอีกฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาสนองรับคำเสนอถูกต้องตรงกัน  คำเสนอจึงต้องมีข้อความชัดเจนเพียงพอที่จะถือเป็นข้อผูกพันในสัญญาได้ สำหรับสลากกินแบ่งรัฐบาลมีหมายเลขหกหลักเป็นเกณฑ์ขี้ขาดในการถูกรางวัลสำคัญ และกรณีที่ขายสลากเป็นชุดประกอบด้วยหมายเลขหกหลักตรงกันหลายฉบับ มักจะขายเกินกว่าราคาที่ระบุไว้หน้าสลาก  

ดังนั้น คำเสนอในการซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นชุดอย่างน้อยจะต้องปรากฎหมายเลขหกหลักและราคาที่จะซื้อขายอยู่ด้วย การที่โจทก์สั่งซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลเลขท้าย 2 ตัว หมายเลข 26 จากนางสาวรัตนาพร เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2560 ตามสำเนาแอปพลิเคชั่นไลน์ ไม่มีรายละเอียดชัดเจนพอที่จะถือว่าเป็นคำเสนอได้ คงเป็นเพียงการแจ้งความประสงค์ของโจทก์ให้นางสาวรัตนาพรทราบว่า ต้องการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลเลขท้าย 2 ตัว หมายเลข 26 เพื่อให้นางสาวรัตนาพรจัดหาสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีหมายเลขดังกล่าวมาเสนอขายโจทก์เท่านั้น 

การที่นางสาวรัตนาพรได้คัดเลือกสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดที่เลขท้าย 2 ตัว หมายเลข 26 แยกมาจากสลากกินแบ่งรัฐบาลฉบับอื่นเพื่อเตรียมไว้ขายให้โจทก์ จึงไม่ทำให้เกิดสัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดดังกล่าวระหว่างโจทก์กับนางสาวรัตนาพร อันจะทำให้กรรมสิทธิ์ในสลากกินแบ่งรัฐบาลตกเป็นของโจทก์ดังที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใด 

พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีข้อพิรุธน่าสงสัย ทั้งยังขัดแย้งกับข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และไฟล์เสียงการสนทนาที่คัดลอกมาจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ของโจทก์กับบุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์หลายประการดังที่ได้วินิจฉัยมา ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า โจทก์ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดที่ถูกรางวัลที่หนึ่งจากนางสาวรัตนาพร  

ดังนั้น สลากกินแบ่งรัฐบาลชุดที่จำเลยนำไปรับเงินรางวัลย่อมไม่ใช่ทรัพย์สินของโจทก์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและพิพากษายกฟ้องต้องกันมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษา ยืน 

ข่าวเด่น

ข่าวในประเทศ

ข่าวที่น่าสนใจ