THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

19 ธันวาคม 2561 : 15:49 น.

ขบวนพายเรือคายัคเก็บขยะจากปากน้ำโพถึงอ่าวไทยเดินทางถึง จ.ปทุมธานี แห่ต้อนรับอบอุ่น ชื่นชมจิตอาสาร่วมใจปลุกจิตสำนึกให้เลิกทิ้งขยะลงแม่น้ำเจ้าพระยา

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 19 ธ.ค. คณะพายเรือคายัค ของ ม.ธรรมศาสตร์ ในกิจกรรมพายเรือเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา 10 จังหวัด ภายใต้ชื่อกิจกรรม “พายเรือเพื่อเจ้าพระยา เก็บขยะจากปากน้ำโพถึงอ่าวไทย” นำโดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ เดินทางมาถึง จ.ปทุมธานีแล้วเพื่อร่วมทำกิจกรรมรณรงค์ลดการทิ้งขยะลงแม่น้ำ และกิจกรรมการคัดแยกขยะกับทางจ.ปทุมธานี โดยมี นายชาธิป รุจนเสรี รองผวจ.ปทุมธานี นายอาวุธ วิเชียรฉาย นายอำเภอเมืองปทุมธานี หัวหน้าส่วนราชการ เครือข่ายจิตอาสา ประชาชน และนักเรียน นักพายเรือคายัค ต่างประเทศหลายประเทศ กว่า 300 คน ให้การต้อนรับและเข้าร่วมกิจกรรม ที่ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านท่าลาน หมู่ 2 ต.กระแชง อ.สามโคก จ.ปทุมธานี

ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าว จะเป็นการพายเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยาผ่าน 10 จังหวัด ระยะทางกว่า 400 กิโลเมตร เพื่อร่วมกันเก็บขยะ ตั้งแต่วันที่ 10-23 ธ.ค. 2561 โดยเริ่มต้นที่ปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ สิ้นสุดที่พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ขบวนเรือทั้งหมดประกอบด้วยเรือคายัคหลัก 10 ลำ ที่จะพายตลอดเส้นทาง และเรือสมทบของแต่ละจังหวัด ที่ประกอบด้วยเรือของชุมชน และหน่วยงานภาครัฐ เรือของม.ธรรมศาสตร์ 20 ลำ

ผศ.ดร.ปริญญา เปิดเผยว่า กิจกรรมดังกล่าวไม่ใช่เพียงเป็นการเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา แต่เป้าหมายที่แท้จริงคือการทำให้คนไทยริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 10 จังหวัดเลิกทิ้งขยะ รวมถึงการเลิกปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำเจ้าพระยา และจะนำไปสู่แม่น้ำอื่น ๆ ในประเทศต่อไป โดยประชาชนที่ต้องการร่วมภารกิจชวนคนไทยให้เลิกทิ้งขยะลงแม่น้ำครั้งนี้ สามารถที่ร่วมกิจกรรมได้ตามจุดต่างๆ ของแต่ละจังหวัดได้

อย่างไรก็ตาม การจัดกิจกรรมทุกจังหวัดจะไม่มีการใช้ขยะพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง โดยจะใช้ภาชนะแบบล้างได้ทั้งหมด เพื่อรณรงค์การเลิกใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งขยะที่เก็บได้จะมีการแยกเพื่อให้ชุมชนทุกจังหวัดได้เรียนรู้เรื่องการจัดการขยะอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังจะมีการเก็บตัวอย่างน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดเส้นทางเพื่อทดสอบคุณภาพน้ำ และปริมาณไมโครพลาสติก ที่อาจกลับเข้าสู่ตัวเราโดยการบริโภคสัตว์น้ำ รวมถึงการเก็บข้อมูลอื่นๆ เช่น ภาพถ่ายของแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดทั้งสาย อย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

สำหรับ การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นความร่วมมือกันระหว่างม.ธรรมศาสตร์ ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและส่งแวดล้อม, กระทรวงมหาดไทย, กรมควบคุมมลพิษ, กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, กรมเจ้าท่า, กรมชลประทาน, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, กรมกิจการพลเรือน กองทัพเรือ, มหาวิทยาลัยมหิดล และกทม.

ข่าวเด่น

ข่าวในประเทศ

ข่าวที่น่าสนใจ