THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

22 มิถุนายน 2563 : 20:01 น.

.

รายงานพิเศษ....

*********************

นโยบายของกระทรงเกษตรและสหกรณ์ที่จะให้เอกชน ผู้ประกอบการ โรงแรม รีสอร์ท ที่อยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. ที่ปัจจุบันไม่สามารถทำพื้นที่การเกษตรได้แล้ว แต่ต้องคืนที่ให้รัฐ เปลี่ยนเป็นให้เอกชนอยู่ได้ แต่ต้องเช่าแทน โดยรายได้เข้ากองทุนปฏิรูปที่ดิน พัฒนาพื้นที่ส.ป.ก. ซึ่งเป็นนโยบายที่ดำเนินมาตั้งแต่ยุครัฐบาลคสช.และมาสานต่อในยุค ร.อ.ธรรมนัส พรมเผ่า รมช.เกษตรฯ จนปัจจุบัน ได้รับการขานรับจากผู้ประกอบ เจ้าของรีสอร์ทว่า เป็นเรื่องดีที่จะนำรายได้เข้ารัฐอีกทางหนึ่ง

ร.อ.ธรรมนัส ระบุเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ ส.ป.ก.ที่เอกชนเข้าไปอยู่และพัฒนาพื้นที่เป็นโรงแรมหรือรีสอร์ทไปไกลหลายแห่ง การจะปรับให้มาเป็นพื้นที่การเกษตรอีกจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ไม่ควรทำ แต่ควรจะใช้ประโยชน์จากสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่มีอยู่ โดยการเก็บค่าเช่าโดยใช้อัตราที่กรมธนารักษ์กำหนดเป็นฐาน มาพิจารณาตามมูลค่าทางเศรษฐกิจ และนำเงินมาพัฒนาต่อยอด

โดยยกตัวอย่างว่า กรณีพื้นที่ ส.ป.ก. ในจ.ภูเก็ต ผลการสำรวจพบว่า มีโรงแรม รีสอร์ท ตั้งอยู่กว่า 300 แห่ง ที่สมุยอีก 100 แห่ง ส่วนพื้นที่ชุมชน เช่น หน้ามหาวิทยาแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ที่กลายเป็นหอพัก ร้านค้า เจริญไปมาก ทั้งหมดนี้ต้องยึดคืนและเก็บค่าเช่าทั้งหมด โดยได้สั่งการให้ ส.ป.ก. สำรวจรายละเอียดให้แล้วเสร็จโดยเร็วโดยต้องแก้กฎหมาย ให้เสร็จภายใน 3 เดือน จากนั้น จะเริ่มเดินหน้าทันที เพื่อนำเงินที่ได้จากค่าเช่ามาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นำร่องคือโครงการแปลงใหญ่ เช่น พื้นที่ปลูกส้มโอที่ จ.เชียงใหม่ จึงร้องขอใช้เงินกองทุนเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ

ขณะที่ นายพงษ์เทพ มาลาชาสิงห์ ประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยว อ.วังน้ำเขียว เจ้าของวังน้ำเขียวลอร์ด รีสอร์ท จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมาย ส.ป.ก.ให้เอกชนในพื้นที่ ส.ป.ก.สามารถเช่าพื้นที่ส่งเงินให้รัฐได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องแยกว่า 1.ถ้าเกษตรกรมีที่ ส.ป.ก.แล้วปัจจุบันเปลี่ยนไปทำธุรกิจร้านอาหาร อย่างนี้ถือว่า ถูกกฎหมาย ทำได้ ตรงนี้ไม่ควรไปยุ่ง

2. กรณีกลุ่มผู้ประกอบการ ที่อยู่อาศัย ในพื้นที่ ส.ป.ก. ซึ่งก็มีสองส่วน คือ ส่วนที่ไม่รู้มาก่อนว่า พื้นที่ที่ตัวเองซื้อมานั้นเป็นที่ส.ป.ก. เพราะเอกชนส่วนใหญ่ในวังน้ำเขียวจะมี ภทบ.5 หรือ เอกสารการเสียภาษีบำรุงท้องที่เท่านั้น ซึ่งก็ซื้อมาจากชาวบ้าน และก็ไม่รู้ว่า ชาวบ้านมีประวัติครอบครองที่ดินมาก่อนอย่างไร เพราะแม้แต่ชาวบ้านเองที่อยู่มานาน บางรายก็ไม่รู้ตัวว่าที่ดินที่ตนเองอยู่นั้นไปทับที่อุทยานฯ หรือเป็นที่ส.ป.ก. ดังนั้น ถ้ารัฐบาลมีแนวคิดที่จะไม่ต้องคืนที่ ส.ป.ก.กรณีเอกชนทำประโยชน์เป็นโรงแรม หรือ รีสอร์ท แต่ให้เป็นการเช่า จึงเป็นเรื่องดีเพราะรัฐจะได้มีรายได้ไปพัฒนาประเทศ เพราะปัจจุบัน เกิดปัญหาเศรษฐกิจหยุดชะงัก

“ผู้ประกอบการในวังน้ำเขียว จะได้เกิดความชัดเจน นำไปสู่การทิศทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวได้ที่จะต่อยอดไปสู่การสร้างจุดขายใหม่ๆ เพราะที่ผ่านมา วังน้ำเขียวก็หยุดชะงักมานาน หลังจากเกิดกรณีเมื่อปี 2554 เจ้าหน้าที่ได้รื้อถอนรีสอร์ทและบ้านพัก 22 แห่ง ที่บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาภูหลวง ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว และยังเป็นคดีอยู่ทุกวันนี้ ทำให้ปัจจุบันผู้ประกอบการหลายรายไม่กล้ามาลงทุนส่งผลต่อการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวที่วังน้ำเขียว เพราะผู้ประกอบการที่นี่ครึ่งต่อครึ่ง ยังกังวลเรื่องความไม่ชัดเจนในการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน ทั้งที่เชื่อว่าตนเองได้มาถูกต้อง ถ้าทุกอย่างเดินหน้า ชัดเจน วังน้ำเขียวก็จะพัฒนายกระดับแหล่งท่องเที่ยวที่มีจุดแข็งการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร”

นายพงษ์เทพ กล่าวว่า นโยบายนี้เป็นเรื่องดี ผู้ประกอบการจะได้เดินหน้า รายใดที่มั่นใจว่า อยู่ในพื้นที่ที่ถูกต้องไม่ผิดกฎหมาย ก็สู้ตามกระบวนการไป ซึ่งถ้าพบว่าผิด ก็ต้องรื้อถอน เสียค่าใช้จ่าย ขณะที่รายใดที่มีความคลุมเครือว่า อยู่ในที่ ส.ป.ก.หรือไม่ ก็จะได้ยื่นเรื่องขอเช่าที่ และเดินหน้าทำธุรกิจต่อไป สิ่งสำคัญ คือ นโยบายนี้เป็นการช่วยสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ รวมถึงลูกจ้าง คนงาน ซึ่งก็เป็นคนในพื้นที่วังน้ำเขียว

ขณะที่ นายธีรชัย ชุติมันต์ ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 (กาญจนบุรี) เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ ส.ป.ก. เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นการพัฒนาพื้นที่ ส.ป.ก.ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับประชาชน ผู้ประกอบการ สร้างงานสร้างอาชีพในชุมชนอย่างยั่งยืน อีกทั้งภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น

สำหรับ แนวทางการพัฒนา พื้นที่ ส.ป.ก.นั้น สามารถพัฒนาสร้างที่พัก รีสอร์ท หรือ โฮมสเตย์ ขนาดเล็กได้ โดยกำหนดให้จำนวนห้องพักเหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ เช่น ที่ดิน 1 ไร่ สามารถทำได้ 6 ห้อง เป็นต้น ผู้ประสงค์จะทำที่พัก ต้องยื่นแบบแปลน เสนอต่อหน่วยงานภาครัฐ และได้รับอนุมัติ ก่อนสร้างอาคาร ในพื้นที่ ส.ป.ก. จะต้องมีการปลูกป่า หรือไม้ยืนต้นอย่างน้อยไร่ละ 15 ต้น สามารถพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเป็น สถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ได้ เช่น โครงการ OTOP นวัตวิธีของรัฐบาล ทั้งนี้ผู้ได้รับอนุญาตต้องชำระภาษีค่าที่พัก และโรงเรือนตามกฎหมายกำหนด ขณะที่ผู้ประกอบการได้ที่รับใบอนุญาตถูกต้อง สามารถทำเรื่องออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรมได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

ด้านนายบรรจง จิระวัฒนากูล กรรมการผู้จัดการ กิจการสวนส้มธนาธร ผู้ประกอบสวนส้มครบวงจรรายใหญ่ในพื้นที่จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า แนวคิดดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะในความเป็นจริง การใช้พื้นที่ ส.ป.ก.ของเกษตรกร ก็ไม่ได้ใช้อย่างเต็มศักยภาพ และยังมีการลักลอบ ซื้อขายหรือเปลี่ยนมือ บางที่เอาไปใช้ ในกิจกรรมการท่องเที่ยว ทำเป็นโรงแรม รีสอร์ท มีทั่วประเทศ จากที่รัฐพยายามแก้ไขและตรวจยึดก่อนหน้านี้ ในส่วนของสวนส้มก็เจอจุดนี้ไปด้วยหลายร้อยไร่ ซึ่งก็คืนไปหมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่า สวนส้มธนาธรก็มีข้อพิพาทในเรื่องของการใช้ที่ ส.ป.ก.และเชื่อว่าหลายๆพื้นที่ในประเทศไทยก็มีปัญหานี้ การที่เราเอามาใช้เพื่อการเกษตรโดยรัฐบาลปรับแก้ไขให้เอกชนสามารถเช่าใช้ได้เป็นเรื่องที่ดี เช่น กิจการขนาดใหญ่ด้านการเกษตรเราเดินหน้าต่อได้ทันทีได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย ถ้าเราให้เกษตรกรรายย่อยทำ บางรายได้เดินได้บางรายก็ไม่ได้ และก็เข้าสู่แนวทางเดิมๆ คือขายสิทธิ์กันซึ่งกฎหมายทำไม่ได้อยู่แล้ว แต่ความเป็นจริงเราก็เห็นกันมาก บางพื้นที่เอาไปทำผิดวัตถุประสงค์ก็เยอะ ทำรีสอร์ท สนามกอล์ฟ โรงแรม หากรัฐบาล ปรับแก้ไขกฏหมายให้สามารถ เช่า ในการทำกิจกรรมด้านการเกษตร เหมือนที่มีแนวคิดล่าสุดออกมา ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี นอกจากจะสามารถขยาย หรือทำกิจกรรมด้านการเกษตร ได้ทันทีแล้ว ยังเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพภายในท้องถิ่นพื้นที่นั้นได้อีกทางหนึ่ง ตัดปัญหาการบุรุกหรือซื้อขายสิทธิ์แบบผิดกฎหมายได้ด้วย แต่ก็ต้องมีเงื่อนไขที่รัดกุมชัดเจนด้วย เพราะขนาดห้ามยังฝ่าฝืนกันอยู่

ก่อนหน้านั้น มีการเข้มงวดของรัฐบาลที่มีการตรวจยึดคืนพื้นที่ ส.ป.ก.ในหลายพื้นที่ ก็ยังไม่สามารถบริหารจัดการต่อจากนั้นได้เป็นรูปธรรมมากนัก ซึ่งหากสามารถส่งเสริมในทางนี้ได้ หรือให้ผู้ที่สามารถประกอบการได้ ทำเป็นแปลงใหญ่ ให้สิทธิประกอบการแต่ไม่ได้ครอบครองเป็นเจ้าของ รัฐก็ได้ประโยชน์ คนทำก็ได้ประโยชน์ ไม่มีข้อพิพาท ก็สามารถที่จะพัฒนาที่ดิน ด้านการเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เดินหน้าขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพในท้องถิ่นได้ง่าย มองว่าได้ประโยชน์

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าพื้นที่ ส.ป.ก.หากรัฐทำฐานข้อมูลใหม่ หรือเอาจุดที่พบว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ไม่สามารถทำการเกษตรได้แล้ว เช่น พื้นที่ที่เป็นรีสอร์ท โรงแรม แหล่งชุมชน และเหมืองแร่ เหมือนที่รัฐบาลมีข้อมูล ทั้งหมดนี้เมื่อมีนโยบายจะยึดคืน แล้วปรับให้เป็นพื้นที่เช่า กำหนดกติกาเงื่อนไขให้ชัดเจน หรือจะพิจารณาตามแต่ละกรณีๆ เพื่อนำค่าเช่าเข้ากองทุนปฏิรูปที่ดินเหมือนที่เป็นข่าว รัฐก็มีรายได้หรือกองทุนเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดได้ ถ้าทำได้ภายในปีนี้ก็จะเป็นการร่วมกันพลิกฟื้นเรื่องวิกฤตจากโควิด-19 ไปอีกด้านหนึ่ง ต่อยอดได้หลายๆด้าน ทั้งการผลิตด้านการเกษตร สร้างงาน สร้างอาชีพ ส่งเสริมเศรษฐกิจ ดีกว่าที่เป็นเหมือนเดิมที่ผ่านมาแน่นอน

ข่าวเด่น

ข่าวในประเทศ

ข่าวที่น่าสนใจ