THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

10 กันยายน 2562 : 11:49 น.

ประธาน กสม. ชี้ “สิทธิผู้สูงอายุต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติ” เป็นประเด็นท้าทายสังคมไทย เผยผลวิจัยนิด้ามีข้อเสนอแนะ 3 มิติ

เมื่อวันที่ 10 ก.ย. ที่โรงแรมทีเคพาเลซ ถนนแจ้งวัฒนะ นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวเปิดการเสวนาวิชาการเพื่อเผยแพร่ผลงานการศึกษาวิจัยด้านสิทธิมนุษยชน (สิทธิผู้สูงอายุ) ว่า ประเทศไทยเริ่มได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) ตั้งแต่ปี 2548 คือ ร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมดเป็นประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และคาดว่าในปี 2564 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ หรือร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด จะเป็นประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

ทั้งนี้ โครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงในประเทศไทย แต่เป็นสถานการณ์ระดับโลก ซึ่งปี 2545 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้มีมติให้จัดตั้งคณะทำงานเปิดกว้างว่าด้วยผู้สูงอายุ (UN Open-ended Working Group on Ageing) เพื่อศึกษาสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุ และความเป็นไปได้ในการจัดทำตราสารระหว่างประเทศ ที่มีผลผูกพันทางกฎหมายในเรื่องดังกล่าว

นายวัส กล่าวว่า สิทธิของผู้สูงอายุ เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ กสม. ให้ความสำคัญ โดย กสม. ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อรับฟังข้อมูลและความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุโดยใช้กระบวนการไต่สวนสาธารณะ (Public Inquiry) และได้จัดทำร่างรายงานกระบวนการไต่สวนสาธารณะในประเด็นสิทธิของผู้สูงอายุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะที่สำนักงาน กสม. ได้มอบหมายให้สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นที่ปรึกษาโครงการศึกษาวิจัยเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะ นโยบาย หรือมาตรการเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของผู้สูงอายุ : กรณีการเลือกปฏิบัติในผู้สูงอายุ โดยผลการศึกษาวิจัยเน้นข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหากรณีการเลือกปฏิบัติในผู้สูงอายุใน 3 มิติ คือ ด้านเศรษฐกิจและสังคม ด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิต และด้านกระบวนการยุติธรรม

“พัฒนาการโดยลำดับของสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุภายใต้บริบทสังคมไทยนั้น มีข้อท้าทายประการหนึ่ง คือ การทำให้กลุ่มประชากรดังกล่าวไม่ถูกรอนสิทธิเนื่องจากสภาพแห่งอายุ และหากยังสามารถเข้าถึงสิทธิของตนได้ จะทำอย่างไรไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นในกลุ่มประชากรดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อผู้สูงอายุของไทยจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันเช่นเดียวกับสมาชิกอื่นๆ ในสังคม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายแห่งวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความสมดุลและยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง” นายวัส กล่าว

ประธานกสม. กล่าวว่า การเสวนาวิชาการในวันนี้ นอกจากนำเสนอผลการปฏิบัติงาน ข้อค้นพบ และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสิทธิของผู้สูงอายุที่ได้มาจากกระบวนการไต่สวนสาธารณะของ กสม. แล้ว ยังมีเวทีการอภิปรายทางวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุกรณีการเลือกปฏิบัติในผู้สูงอายุในมิติเศรษฐกิจและสังคม มิติสุขภาพและคุณภาพชีวิต และมิติกระบวนการยุติธรรม

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่ดำเนินงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และนักวิชาการได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น รวมทั้งรับฟังข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการดำเนินงาน ปัญหาข้ออุปสรรคต่าง ๆ เพื่อสำนักงาน กสม. จะได้รวบรวมข้อมูลและประมวลผลเสนอ กสม. นำไปจัดทำข้อเสนอแนะนโยบายหรือมาตรการเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของผู้สูงอายุให้สอดคล้องกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุ เพื่อเสนอรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป

ข่าวเด่น

ข่าวทั่วไทย

ข่าวที่น่าสนใจ