THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

05 พฤษภาคม 2565 : 16:41 น.

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคกลาง ตามโครงการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคกลาง

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคกลาง ตามโครงการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคกลาง กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้แทนจังหวัดภาคกลาง 20 จังหวัด ถวายรายงาน และกลุ่มทอผ้า เฝ้ารับเสด็จ ที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม

โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานพระวโรกาสให้สมาชิกศิลปาชีพ จำนวน 22 ราย เฝ้ารับพระราชทานคำแนะนำ เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้า เครื่องปั้นดินเผา และงานหัตถกรรมจักสานให้มีความร่วมสมัยแต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ความเป็นธรรมชาติและการบอกเล่าเรื่องราวประจำภูมิภาคให้เป็นที่ยอมรับและความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมทั้งทรงเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าและแฟชั่นแถวหน้าของเมืองไทยร่วมให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาแก่กลุ่มทอผ้าที่เฝ้ารับเสด็จ จำนวน 50 กลุ่ม

จากนั้น ได้ทอดพระเนตรการจัดนิทรรศการผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ประจำจังหวัดภาคกลาง พร้อมทั้งพระราชทานลายผ้า “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” หนังสือดอนกอยโมเดล หนังสือผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ กลุ่มสีจากหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทยเล่มที่ 2 แก่ช่างทอผ้าและผู้ประกอบการ OTOP และทอดพระเนตรการแสดงรำแคนรวมญาติชาติพันธุ์พื้นถิ่นภาคกลาง ซึ่งเป็นการแสดงที่สื่อให้เห็นถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของจังหวัดนครปฐม อาทิ กะเหรี่ยง มอญ ไทยโซ่ง ไท-ยวน ลาวเวียง ลาวคลั่ง ลาวใต้

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาอย่างหาที่สุดมิได้ และเป็นโชคดีของคนไทย ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานอันแน่วแน่และมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด พระบรมราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อรักษาไว้ซึ่งสมบัติทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานหัตถกรรม หัตถศิลป์ การทอผ้าในแต่ละท้องถิ่น ด้วยการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหัตถกรรมไทย ให้ดำรงอยู่ และที่เป็นความตื้นตันใจ เป็นที่ชื่นอกชื่นใจ ทำให้เกิดแรงกล้า แรงศรัทธาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าของช่างทอผ้ากลุ่มต่าง ๆ

ทั้งนี้ นั่นคือการที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงศึกษาแนวทางเพื่อพัฒนารูปแบบ ลวดลาย ผ้าไทย ให้มีความทันสมัย เป็นที่ต้องการของตลาดสากล โดยทรงมีพระวินิจฉัยและพระราชทานคำแนะนำ คำปรึกษาให้กับกลุ่มช่างทอผ้าโดยไม่ถือองค์เอง พระหัตถ์ที่ทรงสัมผัสกับเนื้อผ้าและผลงานแต่ละผืน แต่ละชิ้น แต่ละลวดลาย ล้วนทำให้สัมผัสได้ถึงความใส่พระทัยและความตั้งพระทัยมั่นที่จะทำให้ศิลปวัฒนธรรมผ้าทอไทยของประชาชนเกิดการพัฒนาต่อยอด นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมีพระดำริในด้านความยั่งยืนของหัตถศิลป์ หัตถกรรมไทยที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการพระราชทานแนวทางการใช้สีจากธรรมชาติในการย้อมผ้า เพื่อไม่เกิดมลภาวะต่อดิน น้ำ และอากาศ อันเป็นพระวิสัยทัศน์ที่ทำให้เกิดคุณูปการต่อโลกใบเดียวนี้ ยังความตื้นตันใจและความสำนึกในพระมหากรุณา เป็นการปลุกพลังช่างทอผ้าในการสนองพระดำริด้วยการมุ่งมั่นตั้งใจพัฒนางานให้เกิดการเพิ่มมูลค่า เพิ่มคุณค่า และส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม โดยยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของผ้าแต่ละท้องถิ่นให้เกิดความยั่งยืนตลอดไป

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ภายในงานมีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย จำนวน 50 กลุ่ม อาทิ “ผ้ามัดหมี่ลายตาขอสับปะรด” จากกลุ่มทอผ้าไหมลายโบราณบ้านวังคอไห อ.เนินขาม จ.ชัยนาท ใช้เทคนิคการต่อตีนจกลายดอกแก้วสีชมพูย้อมจากครั่ง สีเหลืองจากแก่นต้นขนุน สีดำย้อมมะเกลือ สีส้มย้อมจากเมล็ดคำแสด สีเขียวย้อมจากครามทับแก่นขนุน “ผ้าด้นมือ” จากกลุ่มหัตถกรรมผ้าด้นมือ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี การสร้างสรรค์เครื่องเรือนเป็นลวดลายชุด “กุหลาบแห่งความรัก” ย้อมครั่งและใช้เทคนิคด้นมือที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอัตลักษณ์ “ผ้าทอกะเหรี่ยงโปว์” บ้านสองพี่น้อง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มีความโดดเด่นด้านวัฒนธรรม ภูมิปัญญา การนำเปลือกไม้ ใบไม้และครั่งที่มีในถิ่นที่อยู่มาย้อมสีไหม-ฝ้าย แล้วนำมาทอด้วยกี่เอวเป็นผ้าทอ เครื่องนุ่งห่มที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติพันธุ์ “ผ้าทอกระเหรี่ยงลายพระอาทิตย์และลายสลับ” จากศูนย์วัฒนธรรมไทย - กะเหรี่ยง ส่วนหัวซิ่นจะทอเป็นผ้าพื้น ส่วนซิ่นทอลายมัดหมี่สีแดงอมส้มสลับลายทอยกดอก ส่วนตีนซิ่นทอลายจกแล้วเย็บกับตัวซิ่น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านหนองเครือบุญ ได้คิดนวัตกรรมใช้ประโยชน์จากผักตบชวา มาทำให้เกิดมูลค่า สร้างรายได้ ทั้งรักษาสภาพแวดล้อม โดยผลิตเป็นเส้นใยผักตบชวา นำมาทอผสมกับเส้นใยฝ้าย จะเกิดเป็นเส้นริ้วบาง ๆ อยู่ในเนื้อผ้ามีเฉดสีเอิร์ธโทน ผ้าซิ่นตีนจกต่อตัว ผ้ายกดอกถมเกสร จากหนานเอฟ ผ้าจกไทยวน อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ได้รับแรงบันดาลใจมากจากผ้าโบราณ นำมาพัฒนาสีสันและออกแบบลวดลายโดยมีลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เป็นลายหลักทอขึ้นจากไหมบ้าน สาวด้วยมือ ย้อมด้วยสีธรรมชาติ, ผ้าซิ่นตีนจกไท-ยวน จากวงเดือนผ้าจกไท-ยวน ถักทอด้วยเส้นไหมย้อมสีธรรมชาติ จากพืชที่หาได้ในท้องถิ่นนำมาสกัดสีแล้วนำเส้นไหมลงไปย้อมเพื่อให้ได้สีสันตามที่ต้องการ ใช้เทคนิคการทอด้วยวิธีการจกนับเส้นไหมทีละเส้นและวิธีการยกมุกหรือการขิด จนเป็นผ้าซิ่นตีนจกไท-ยวนย้อมสีธรรมชาติ

ด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาอย่างหาที่สุดมิได้ที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ผ่านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และตน เพื่อมอบให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค นำไปใช้ทอผ้า ผลิตผ้าตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าท้องถิ่นทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้จัดพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด และประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด เพื่อนำไปมอบให้กับช่างทอผ้าฯ ตามพระประสงค์ และในขณะนี้จังหวัดต่าง ๆ ได้มีการจัดพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทานฯ ให้แก่ช่างทอผ้าแล้ว ซึ่งลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” นี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงได้รับแรงบันดาลพระทัยจาก “ผ้าขิดลายสมเด็จ” ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงพระราชทานแก่ราษฎร อันเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย

สำหรับ แต่ละลวดลายมีความหมายที่ลึกซึ้ง ได้แก่ ลาย S ที่ท้องผ้า หมายถึง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงออกแบบให้เว้นช่องว่างไว้ เพื่อให้ราษฎรได้ร่วมถักทอลวดลายของตนเองลงในช่องว่าง เป็นการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากแต่ละท้องถิ่น โดย "ลายขิดที่เป็นกรอบล้อมรอบตัว S" หมายถึงความจงรักภักดีที่ชาวไทยมีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์ ลายเชิงผ้ารูปหัวใจ หมายถึง ความรักของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่มีต่อปวงชนชาวไทย "ลาย S ประกอบกับลายขิดที่เชิงผ้า" หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงปรารถนาให้คนไทยอยู่ดีมีสุข "ลายต้นสนที่เชิงผ้า" หมายถึง พระดำริใน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ของโครงการศิลปาชีพฯ อันลายต้นสนนี้ เป็นลวดลายพื้นถิ่นที่ถักทออยู่บนผืนผ้าของบ้านนาหว้า จังหวัดนครพนม ที่ซึ่งเป็นจุดกำเนิดโครงการศิลปาชีพฯ "ลายหางนกยูงที่เชิงผ้า" หมายถึง ความตั้งพระทัยมั่นของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จย่าของพระองค์ ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดิน

ด้านตัวแทนกลุ่มช่างทอผ้า กล่าวว่า เป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่ได้รับพระมหากรุณาจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา หรือ “พระองค์หญิง” เสด็จมาทอดพระเนตรผลงานที่พวกเราตั้งอกตั้งใจทอ ตั้งใจปั้น ตั้งใจวาดลวดลาย สร้างสรรค์ชิ้นงานให้มีความสวยงามตามลายของบรรพบุรุษในชุมชน/หมู่บ้าน โดยพระองค์ท่านไม่ถือองค์เองเลย ทรงหยิบผ้า ทรงสัมผัสผลงาน แล้วทอดพระเนตร และพระราชทานคำแนะนำให้พวกเราได้ไปพัฒนาต่อยอด ทั้งเรื่องการย้อมผ้าเฉดสีต่าง ๆ โดยทรงเน้นย้ำให้ใช้สีธรรมชาติ และปลูกต้นไม้ที่ให้สีธรรมชาติให้เพิ่มเติมทดแทนมากขึ้น การใช้ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ผสมผสานกับความสมัยใหม่ และการออกแบบชุดที่เข้ากับวัยรุ่น เข้ากับเด็กรุ่นใหม่ให้มากขึ้น ซึ่งนับตั้งแต่พระองค์ท่านพระราชทานแบบลายผ้า ทั้ง “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี” และ “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” ทำให้ชีวิตของพวกเราดีขึ้น มียอดการจำหน่ายผ้าเพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก จนทอ จนผลิตผ้ากันไม่ทันเลยทีเดียว ซึ่งเราทุกคนจะเร่งพัฒนาตามที่พระองค์ท่านได้พระราชทานคำแนะนำ และจะขอเทิดทูนพระองค์ท่านไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม นำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดสู่ลูกหลาน ให้เกิดความยั่งยืนกับครอบครัว กับหมู่บ้าน กับชุมชนของพวกเราตลอดไป

ข่าวเด่น

ข่าวในประเทศ

ข่าวที่น่าสนใจ