THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

30 มิถุนายน 2564 : 20:58 น.

เชียงใหม่- พบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา 11 รายล้วนนำเข้าจากนอกพื้นที่แพร่กระจายในหมู่เครือญาติ สาธารณสุขสั่งเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ขณะที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ออกมาตรการคุมเข้ม

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน นายกนก ศรีวิชัยนันท์ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมแถลงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่ โดย ดร.ทรงยศ เปิดเผยว่า วันนี้จังหวัดเชียงใหม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 4 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมเป็น 4,169 ราย รักษาหายแล้ว 4,097 ราย ยังคงมีผู้รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลทุกประเภท จำนวน 46 ราย ขณะที่กลุ่มผู้ติดเชื้อที่ยังรักษาตัวอยู่นั้น แยกเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย (สีเขียว) 28 ราย อาการปานกลาง (สีเหลือง) 14 ราย อาการค่อนข้างหนัก (สีส้ม) 3 ราย และผู้ป่วยอาการหนัก (สีแดง) 1 ราย

ทั้งนี้ การตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มผู้สัมผัสหรือผู้เสี่ยงสูง เมื่อวันนี้ 29 มิ.ย. ตรวจไป 951 ราย พบเชื้อ 4 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.40 ส่วนปัจจัยเสี่ยงยังคงเป็นการนำเชื้อเข้ามาจากต่างจังหวัด ซึ่ผู้ติดเชื้อ 3 รายสัมผัสโรคมาจากต่างจังหวัด และอีก 1 ราย เป็นผู้สัมผัสในครอบครัวต่อจากผู้ที่เดินทางเข้ามาจากต่างจังหวัด จึงขอย้ำเตือนให้ผู้ที่เดินทางเข้าพื้นที่ปฏิบัติตนตามมาตรการของจังหวัดเชียงใหม่อย่างเคร่งครัดจริงจัง ทั้งการสแกน CM CHANA และกักตนเอง หากกักตัวที่บ้านต้องแยกห่างจากคนในครอบครัว เพื่อความปลอดภัยของญาติพี่น้อง แต่ถ้าไม่ปฏิบัติตามก็จะพบผู้สัมผัสจำนวนมาก และอาจเกิดการแพร่ระบาดไปในวงกว้างจนกลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ได้ 

สำหรับ กรณีปรากฏข่าวในโซเชียล ว่า จังหวัดเชียงใหม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตานั้น เป็นการตรวจพบในครั้งแรกจำนวน 2 ราย และได้แพร่ระบาดในวงญาติใกล้ชิดเพิ่มอีก 9 ราย รวมเป็น 11 ราย เป็นการติดเชื้อจากการนำเข้าแล้วแพร่กระจายในวงเครือญาติ โดยทางสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ได้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด รายละเอียดของผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4 ราย คือ CM 4249 ชายอายุ 45 ปี สัญชาติฟิลิปปินส์ เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของ CM 4220 ที่เป็นบาทหลวงศาสนาคริสต์ที่เดินทางมาจากกททม.แล้วกักตัวที่บ้านโดยมีเพื่อน 3 คน อาศัยอยู่ร่วมกัน ซึ่งเพื่อนได้ตรวจพบเชื้อไปก่อนหน้าแล้ว ส่วนรายนี้ได้กักตัวอยู่ที่บ้าน กระทั่งวันที่ 29 มิถุนายน เริ่มมีอาการไอ จึงเข้ารับการตรวจครั้งที่ 2 และพบเชื้อ ไม่มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเพิ่ม

ขณะที่ CM 4250 และ CM 4252 เป็นพ่อลูกชาวเชียงใหม่ที่เดินทางไปค้าขายในกทม. โดยพ่ออายุ 75 ปี และลูกชายอายุ 41 ปี ซึ่งลูกชายขายกาแฟอยู่แขวงศรีจันทร์ โดยวันที่ 14 มิถุนายน เริ่มมีอาการไข้ ปวดหัว และวันที่ 18 มิถุนายน เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวกลับมาจังหวัดเชียงใหม่ และเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลแม่แตง ซึ่งพ่อมีอาการทางปอดได้ถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสันทรายก่อนที่จะทราบผลว่าติดเชื้อโควิด-19 จากการตรวจสอบพบว่ามีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 1 ราย คือ มารดา อยู่ระหว่างรอผลตรวจ และผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำในชุมชน 1 ราย ให้เฝ้าสังเกตอาการ ส่วน CM 4251 มีภูมิลำเนาอยู่ที่กทม. และเดินทางมาท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ด้วยสายการบิน Vietjet เที่ยวบินที่ VZ114 ที่นั่ง 27F และได้ใช้บริการรถแท็กซี่สนามบิน แวะปั๊ม ปตท.แม่ริม ก่อนที่จะเข้าพักที่ธารกล่อมโฮมสเตย์ และมีเพื่อนมาหา จากนั้นเช้าวันที่ 29 มิถุนายน อสม. เห็นข้อมูลใน CM CHANA เจ้าหน้าที่จึงได้เข้าไปตรวจคัดกรอง และพบเชื้อในวันนี้ (30 มิ.ย. 64) โดยไม่มีอาการ

ด้าน นายกนก ศรีวิชัยนันท์ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย และกรมควบคุมโรค ได้ประสานเน้นย้ำมายังคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ให้กำชับเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ ออกคำสั่งเป็นหนังสือแก่ผู้ประกันตนที่ถูก “แยกกัก” หรือ “กักกัน” จากกรณีโรคโควิด-19 เพื่อเป็นเอกสารประกอบการขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย อันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 อาทิ ถูกสั่งให้กักตัว สถานประกอบการ/ร้านค้า ถูกสั่งให้ปิดชั่วคราว หรือสถานประกอบการปิดตัวลงในห้วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้มีหนังสือสั่งการไปยังทุกอำเภอแล้ว เพื่อกำชับให้เจ้าพนักงานโรคติดต่อดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว ทั้งนี้ ลูกจ้างจะได้รับสิทธิในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน ตลอดระยะเวลาที่มีการกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาด หรือกรณีที่มีคำสั่งปิดสถานที่/สถานประกอบการ แล้วแต่กรณี แต่ไม่เกิน 90 วัน

นายกนก ศรีวิชัยนันท์ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ด้วยกระทรวงมหาดไทย และกรมควบคุมโรค ได้ประสานเน้นย้ำมายังคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ให้กำชับเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ ออกคำสั่งเป็นหนังสือแก่ผู้ประกันตนที่ถูก “แยกกัก” หรือ “กักกัน” จากกรณีโรคโควิด-19 เพื่อเป็นเอกสารประกอบการขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย อันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 อาทิ ถูกสั่งให้กักตัว สถานประกอบการ/ร้านค้า ถูกสั่งให้ปิดชั่วคราว หรือสถานประกอบการปิดตัวลงในห้วงสถานการณ์โควิด-19

ขณะที่ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้มีหนังสือสั่งการไปยังทุกอำเภอแล้ว เพื่อกำชับให้เจ้าพนักงานโรคติดต่อดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว ทั้งนี้ ลูกจ้างจะได้รับสิทธิในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน ตลอดระยะเวลาที่มีการกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาด หรือกรณีที่มีคำสั่งปิดสถานที่/สถานประกอบการ แล้วแต่กรณี แต่ไม่เกิน 90 วัน และจากมาตรการป้องกันโรคโควิด - 19 โดยเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานหรือคนต่างจังหวัดที่เข้าไปทำงานในพื้นที่ดังกล่าว กลับมายังภูมิลำเนามากขึ้น ซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19 ในจังหวัดเชียงใหม่

คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้มีมติออกคำสั่งที่ 69/2564 เรื่องห้ามบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านและบริเวณต่อเนื่อง เพื่อให้การควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อโควิด - 19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีสาระสำคัญคือ ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากกรมสรรพสามิต สามารถบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านและบริเวณต่อเนื่อง ได้ถึงเวลา 21.00 น. และให้ปิดร้านในเวลา 22.30 น. ส่วนการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ให้จำหน่ายได้ระหว่างเวลา 11.00 – 14.00 น. และเวลา 17.00 – 21.00 น. ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564

ข่าวเด่น

ข่าวในประเทศ

ข่าวที่น่าสนใจ